ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในคราวเดียวหรือการดื่มแบบบินจ์ (Binge Drinking) เป็นการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากในช่วงเวลาอันสั้นหรือการดื่มแบบ “เมาหัวราน้ำ”(1) นำไปสู่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ข้อมูลจากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ในนักศึกษาระดับวิทยาลัยที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 1,219 คน พบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเมาหัวราน้ำเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการบาดเจ็บบนท้องถนนสูงถึง 25.6 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่มจนเมาหัวราน้ำ(2,3) การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยพบว่า ปี 2010 ในประเทศสหรัฐอเมริกา การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 249 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 40% ของการสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด(4) การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมีความเสี่ยงสูงต่อการทะเลาะวิวาท(5) และทำให้คุณภาพชีวิตลดลง(6)

การเริ่มต้นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกในอายุน้อยเป็นปัจจัยเสี่ยงของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก การศึกษาในประเทศออสเตรเลียในกลุ่มประชากรที่เป็นนักดื่ม จำนวน 29,315 คน พบว่า ผู้ที่เริ่มดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยจะเพิ่มโอกาสการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักอย่างมีนัยสำคัญ(7) การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และ 15-17 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเป็น 1.62 เท่าและ 1.32 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่เริ่มดื่มเมื่ออายุ 18-20 ปี(8)

สำหรับข้อมูลของประเทศไทย ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล “การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2560” ในกลุ่มตัวอย่างที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณครึ่งหนึ่ง (48.4%) เริ่มดื่มที่อายุยังน้อยกว่า 20 ปี อายุเริ่มดื่มต่ำสุด คือ 8 ปี และมากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง (40.0%) เคยดื่มจนเมาหัวราน้ำ

ทีมวิจัยยังพบว่า การเริ่มต้นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปี เพิ่มความเสี่ยงต่อการดื่มจนเมาหัวราน้ำขึ้นถึง 76% เมื่อเทียบกับผู้ที่เริ่มต้นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป และผู้ที่เริ่มต้นดื่มเมื่ออายุยังไม่ถึง 20 ปี หากเป็นเพศหญิงจะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มเติมขึ้นไปอีก 28%

ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าการสอนให้เยาวชนเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อจะได้ “ดื่มเป็น” และลดความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการดื่มเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่นั้นไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะยิ่งเริ่มดื่มเร็ว เมื่อโตขึ้นก็จะยิ่งมีพฤติกรรมการดื่มที่เสี่ยงมากขึ้นไปอีก ครอบครัว ชุมชน สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงยิ่งต้องตระหนักถึงความสำคัญของในการปกป้องเยาวชนจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อวัยเยาว์เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการดื่มในอนาคต

ดร.ไพฑูรย์ สอนทน, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

ดร.นฤมล จันทร์มา, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

เอกสารอ้างอิง

Drinking Patterns and Their Definitions. Alcohol Res Curr Rev. 2018 Jan;39(1):17–8.

Yoshimoto H, Takayashiki A, Goto R, Saito G, Kawaida K, Hieda R, et al. Association between Excessive Alcohol Use and Alcohol-Related Injuries in College Students: A Multi-Center Cross-Sectional Study in Japan. Tohoku J Exp Med. 2017;242(2):157–63.

Rossow I, Bogstrand ST, Ekeberg Ø, Normann PT. Associations between heavy episodic drinking and alcohol related injuries: a case control study. BMC Public Health. 2013 Nov 14;13:1076.

Sacks JJ, Gonzales KR, Bouchery EE, Tomedi LE, Brewer RD. 2010 National and State Costs of Excessive Alcohol Consumption. Am J Prev Med. 2015 Nov;49(5):e73–9.

Liang W, Chikritzhs T. Examining the Relationship between Heavy Alcohol Use and Assaults: With Adjustment for the Effects of Unmeasured Confounders [Internet]. Vol. 2015, BioMed Research International. Hindawi; 2015 [cited 2020 Sep 21]. p. e596179. Available from: https://www.hindawi.com/journals/bmri/2015/596179/

Lim W-Y, Subramaniam M, Abdin E, He VY, Vaingankar J, Chong SA. Lifetime and twelve-month prevalence of heavy-drinking in Singapore: Results from a representative cross-sectional study. BMC Public Health. 2013 Oct 21;13(1):992.

Liang W, Chikritzhs T. Age at first use of alcohol and risk of heavy alcohol use: a population-based study. BioMed Res Int. 2013;2013:721761.

McCombie RP. Age of First Drink, First Alcohol Intoxication, and Alcohol Abuse Behaviors Among Occupational Therapy Students. Open J Occup Ther [Internet]. 2019 Mar 22 [cited 2020 Sep 22];7(2). Available from: https://go.gale.com/ps/i.do?p=HRCA&sw=w&issn=21686408&v=2.1&it=r&id=GALE%7CA584600177&sid=googleScholar&linkaccess=abs