ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อนุกก.เวชศาสตร์ฯ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ เผยอัตราเจริญพันธุ์ไทยต่ำกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก พบตัวเลขเด็กเกิดใหม่ 6 แสนราย ลดลงเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกของไทย หนุนภาวะการมีบุตรยากให้เป็นโรค เพื่อให้ได้สิทธิรักษาฟรี

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2564 ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเด็กเกิดใหม่ขณะนี้ต่ำกว่า 600,000 ราย ถือว่ามีการลดลงอย่างมาก เป็นครั้งแรกในประเทศไทย อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR) อยู่ที่ 1.51 คน ถือว่าต่ำมาก ซึ่งองค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก บอกว่าตัวเลขที่ดีต้องอยู่ที่ 2.1 คน หากต่ำกว่านี้จะมีปัญหา 2 ประการ คือ 1. เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว 2. ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเรากำลังเข้าสู่ปัญหาแล้ว

“ก่อนหน้านี้ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเจริญพันธุ์รวมอยู่ที่ 1.6 คน ผู้นำประเทศประกาศว่าจะถึงหายนะแน่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร จนสุดท้ายอาจจะถึงขั้นไม่มีคนญี่ปุ่นอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเลย จึงออกมาตรการต่างๆ มาแต่สุดท้ายอัตราการเกิดยังลดลง ส่วนไทยเคยมีอัตราเจริญพันธุ์รวม 5.1 คน วันนี้ลงมาเรื่อยๆ จน 1.5 คน แต่ยังไม่ได้ทำอะไร ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลยจะลงไปถึง 1.3 ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี” ศ.นพ.กำธร กล่าว

ศ.นพ.กำธร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้นอกจากอัตราการเกิดในไทยจะน้อยลงแล้วยังพบว่ามีจำนวนมากที่เกิดจากแม่ที่มีอายุเยอะซึ่งส่งผลกระกับเด็กที่เกิดมา เช่น เป็นโรคดาวน์ซินโดรม เป็นต้น โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ก็จริง แต่จะพบมากขึ้นเมื่อแม้มีการตั้งครรภ์เมื่ออายุเยอะ โดยหากเกิดจากแม่ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี โอกาสเกิด 1 ต่อ 800 ของอัตราการเกิด และถ้าแม่อายุมากกว่า 35 ปี โอกาสพบได้ 1 ต่อ 350 และถ้าแม่อายุ 40 ปี จะอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ของอัตราการเกิด ถือว่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้คุณแม่ที่มีความพร้อมสามารถมีบุตรได้ก่อนที่จะมีอายุเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งที่อยากเสนอคือเข้าถึงการรักษาเพื่อให้มีบุตรโดยไม่ต้องรอให้อายุมาก เช่น แต่งงานสักพักไม่มีลูกก็ไปพบแพทย์ได้เลย 

ทั้งนี้ มีตัวเลขในต่างประเทศที่ให้สิทธิผู้หญิงเข้ารับการปรึกษา และรักษาการมีบุตรยาก เช่น ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรป สามารถเข้ารับการรักษาได้เฉลี่ยที่อายุ 32 ปี แต่ไทยกว่าจะได้รับการรักษาเมื่ออายุเฉลี่ย 38 ปี ถือว่าไทยใจเย็นเกินไป ไม่ทัน เพราะอายุ 38 ปี มีลูกโจทย์ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ยิ่งอายุเยอะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรม ปัญหาสำคัญเลยคือประเทศไทยไม่ได้ถือว่าการมีบุตรยากเป็นโรค จึงไม่ได้ให้สิทธิในการเข้ารับการรักษาฟรี ทำให้เสียเงินเยอะ บางคนเข้าไม่ถึงการรักษา ดังนั้นประเทศไทยต้องตั้งต้นจากการพิจารณาให้การมีบุตรยากเป็นโรคเสียก่อน จากนั้นจึงจะมีการพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ตามมา

“เรื่องนี้มีความพยามเสนอมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงบางคนที่เข้ารับการรักษาซีสต์ เนื้องอกในมดลูก แล้วอาจจะพูดถึงการมีบุตรยากก็กลายเป็นการไม่ได้สิทธิในการรักษาเลย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ ทำไมถึงพูดคำนี้ไม่ได้” ศ.นพ.กำธร กล่าว

แหล่งข่าวเปิดเผยว่าในที่ประชุมประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติครั้งที่ 1/2564 มีการหารือกันเกี่ยวกับปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์รวมที่ตกลงมาอยู่ที่ 1.5 คน หากไม่สามารถกระตุ้นให้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2 ประชากรไทยจะลดลงอย่างมาก ซึ่งนอกจากการผลักดันสิทธิประโยชน์การรักษาภาวะมีบุตรยากแล้ว นั้น ปัญหาหนึ่งที่คนไม่ยอมมีลูกคือปัญหาเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม ครอบครัวด้วย ดังนั้นต้องมีการผลักดัน ช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้เพื่อส่งเสริมให้คนอยากมีลูก