ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ เผยการคัดกรองว่ามีใครติดเชื้อหรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะป้องกันการแพร่กระจายและหยุดการระบาดโควิด19

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟชบุ๊กธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุถึงการคัดกรองที่เข้าถึงได้ทุกคน ว่า

 

การคัดกรองว่ามีใครติดเชื้อหรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและหยุดการระบาดให้ได้เพื่อทำให้เศรษฐกิจไม่ล่มจม ทั้งนี้เนื่องจากการแพร่เชื้อที่สำคัญจะมาจากคนที่ไม่มีอาการแทบทั้งสิ้น

 

การคัดกรองด้วยวิธีการหาเชื้อด้วยกระบวนการพีซีอาร์ ไม่สามารถระบุได้จากการตรวจเพียงครั้งเดียวและต้องการการตรวจซ้ำสองถึงสามครั้งทำให้งบประมาณบานปลายและการปฏิบัติยังทำได้ยากและเกิดความล่าช้าและความเสี่ยงทั้งผู้ปฏิบัติงานและในห้อง แลป

 

การตรวจคัดกรองและสามารถวินิจฉัยได้ด้วยความแม่นยำและความไว 100% สามารถกระทำได้โดยการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันซึ่งจะเป็นเครื่องชี้บอกว่าเกิดการติดเชื้อขึ้นแล้วและสามารถกระทำได้ทั้งในคนที่มีและไม่มีอาการก็ตาม

 

สำหรับคนที่มีอาการรายงานได้รับการตีพิมพ์ใน

วารสาร PlosONe และสำหรับคนที่ไม่มีอาการนั้นล่าสุดจากกรณีของการระบาดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบคนที่ไม่มีอาการ 55 รายที่ปล่อยเชื้อได้จากการตรวจด้วยกระบวนการพีซีอาร์ พบว่าการตรวจเลือดสามารถระบุได้ 100% เป็นการยืนยันข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ทดสอบในปี 2563

 

การตรวจคัดกรองเชิงรุกประกอบด้วย

 

1- การตรวจเลือดต้องทำทุกคน 

 

2- วิธีการตรวจด้วยชุดการตรวจมาตรฐาน Elisa เช่นของศูนย์ปฏิบัติการโรคอุบัติใหม่สภากาชาดไทยจุฬา ซึ่งยืนยันความไวและความจำเพาะแล้ว และเป็นวิธีเดียวกันกับที่ US FDA ให้การรับรองในการใช้ตรวจ ยี่ห้อ genscript 

 

3- การตรวจที่สมบูรณ์จะเป็นการตรวจ IgM IgG และภูมิที่ยับยั้งไวรัสได้หรือที่เรียกว่า Neutralizing antibody (NT) ราคา 1000 บาทแต่ขั้นตอนในการคัดกรองสามารถตรวจแต่ IgM IgG ได้ ราคา 400 บาท

 

4- เมื่อได้ผลเป็นบวกไม่ว่าตัวใดตัวหนึ่งต้องทำการคัดแยกตัวทันที และปฏิบัติการตรวจต่อว่าแพร่เชื้อได้หรือไม่ ด้วยกระบวนการพีซีอาร์ ซึ่งต้องตรวจอย่างน้อยที่สุดสองครั้ง

 

5- ในคนที่เลือดเป็นบวกและพิสูจน์แล้วว่าไม่มีเชื้อปล่อยออกมาดังข้อสี่จึงสามารถปล่อยจากการกักตัวได้

 

กระบวนการเหล่านี้ถือว่าเป็นบับเบิล แอนด์ ซีล จนกระทั่งสามารถปล่อยตัวออกมาสู่สังคมได้

 

6- กระบวนการสุดท้ายคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคัดกรองจากการครวจเลือดด้วย Elisa ที่ต้องส่งเลือดมายังห้องปฏิบัติการและใช้เวลา 3 ชั่วโมงเป็นการตรวจด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วและหาภูมิคุ้มกัน หรือ rapid test

 

7- ชุดการเจาะเลือดปลายนิ้วต้องมีคุณสมบัติของการคัดกรองที่สมบูรณ์คือมีความไว 100% นั่นคือคนที่ติดเชื้อทุกรายจะต้องมีผลบวกทั้งสิ้นแต่แน่นอนจะมีผล +เกินในระดับที่รับได้ คือประมาณสองถึง 5% 

ทั้งนี้จุดเด่นก็คือประชาชนทุกคนเข้าถึงได้สถานบริการสถานที่ที่ต้องมีคนใช้ประกอบกิจกรรม แม้กระทั่งโรงเรียนสถานศึกษานำไปใช้ได้ และคนไทยทุกคนสามารถประเมินตนเองได้

 

8- การตรวจเลือดไม่ว่าจะเป็นการตรวจแบบมาตรฐานelisa หรือการตรวจปลายนิ้วในคนที่มีกิจกรรมตลอดเวลาไปทำงานขึ้นรถสาธารณะมีโอกาสรับเชื้อและแพร่เชื้อจะต้องทำการตรวจทุกเจ็ดวัน ทั้งนี้เนื่องจากว่าการติดเชื้อในสี่ถึงห้าวันการตรวจเลือดจะไม่เป็นบวกและการตรวจหาเชื้อไม่เป็นบวกเช่นกัน