ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดรายละเอียดติดโควิด19 คลัสเตอร์จุฬานิวาสน์ ส่วนใหญ่วัยทำงานอายุ 40-59 ปี ติดเชื้อรวม 22 ราย เผย 5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวข้อง ทั้งอาศัยที่เดียวกัน ทำงานร่วมกัน กินข้าร่วมกัน กิจกรรมรวมแถวของรปภ. และจุดสแกนนิ้ว ด้าน ศบค.เตรียมหารือร่วม สธ. 18 ก.พ. ถกผ่อนคลายมาตรการ 2 รูปแบบ

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า คลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อจุฬานิวาสน์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 40-59 ปี จากกรณีนี้พบติดเชื้อรวม 22 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไอ เสมหะ ปวดกล้ามเนื้อและเหนื่อยหอบ ทางสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) กรมควบคุมโรค วิเคราะห์การเชื่อมโยง พบว่า ผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นพนักงานส่งเอกสาร อายุ 56 ปี อาศัยอยู่ชั้นที่ 12 ของอาคารและแพร่เชื้อไปอีก 7 ราย หลังจากนั้นก็แพร่ไปอีกวงหนึ่ง คือ กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย(รปภ.) ที่ทำงานร่วมกัน สแกนนิ้วเข้าทำงาน รับประทานอาหารร่วมกัน กระทั่งแพร่เชื้อไปให้ญาติและพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมศบค. หารือ 5 ประเด็นสำคัญจากกรณีดังกล่าวที่ต้องป้องกันคือ 1.อาศัยที่เดียวกัน 2.ทำงานร่วมกัน 3.กิจกรรมรับประทานอาหาร 4.เข้ากิจกรรมรวมแถวของรปภ. และ 5.จุดสแกนนิ้ว เนื่องจากพบเชื้อไวรัสจากจุดนี้ด้วย ดังนั้น ที่ทำงานที่มีพนักงานรวมกัน ต้องดูแลความสะอาดโดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วมในการสแกนนิ้วมือ จึงต้องเน้นย้ำการล้างมือให้สะอาด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ดีดีโพล กรมควบคุมโรค สำรวจความเห็นประชาชนในการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ระหว่างวันที่ 26 ม.ค. – 18 ก.พ. กลุ่มตัวอย่างสามารถตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า ร้อยละ 70 เห็นว่าควรฉีดให้กลุ่มบุคลากรสาธารณสุขก่อน รองมาคือ ผู้สูงอายุ ร้อยละ 40.1 ผู้ป่วยโรคเรื้อรั้ง ร้อยละ 32.2 ควรฉีดให้ทุกคน ร้อยละ 35.2 เด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 22.3 และตอบไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.1 ขณะที่ ราชภัฏโพล จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง เผยผลสำรวจใน 3 อันดับแรก คือ บุคลากรสาธารณสุข ร้อยละ 74.47 ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรั้ง ร้อยละ 51.85 ผู้สูงอายุ ร้อยละ 50.71 รองมาคือ ประชาชนที่มีอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ร้อยละ 33.66 ประชาชนในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ร้อยละ 22.35 คนไทยที่จำเป็นต้องไปต่างประเทส ร้อยละ 20.02 และประชาชนในจังหวัดที่ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ร้อยละ 19.10

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.วันนี้ ขอให้มีการผ่อนคลายมาตรการใน 2 รูปแบบ คือ 1.ผ่อนคลายกิจกรรมโดยเฉพาะ เช่น การแข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชม การเปิดกิจการ/สถานที่ การค้าขาย หรือการดื่มแอลกอฮอล์ กับ 2.เปลี่ยนสีพื้นที่ควบคุม เนื่องจากการผ่อนคลายบางกิจกรรมจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ ซึ่งที่ประชุมมีแนวโน้มในการเปลี่ยนสีพื้นที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ก.พ. โดยคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจ จะประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในด้านข้อมูลเพื่อจัดทำข้อสรุป ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ในวันที่ 22 ก.พ. นี้