ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยสถานการณ์โควิดรอบ 7 วัน ตัวเลขต่ำกว่า 100 ราย แต่ยังวางใจไม่ได้ การ์ดอย่าตก ขณะที่คลัสเตอร์ติดเชื้อที่จุฬานิวาสน์ เชื่อมโยงรับประทานอาหารร่วมกัน จุดสแกนนิ้วมีเชื้อ เน้นย้ำต้องระวัง ล้างมือให้สะอาด เว้นระยะห่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่รัฐสภา นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์และความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา (วันที่ 10-16 ก.พ.64) มีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันในระดับ 100-200 ราย ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกใน 7 วันที่ตัวเลขต่ำกว่า 100 ราย คือ 72 ราย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ติดโควิด19 ของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ลำดับ 114 โดยตัวเลขสะสมของไทยอยู่ที่ 24,786 ราย ขณะที่ประเทศในทวีปเอเชีย ที่น่าสนใจคือ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีชายแดนติดกับไทย โดยวันนี้ติดเชื้อ 2,176 ราย ซึ่งน้อยกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อยู่ระหว่าง 3-4 พันรายต่อวัน โดยยอดรวมมาเลเซียติดเชื้อ 266,445 ราย

สำหรับตัวเลขผู้ป่วยไทยวันนี้ 72 ราย ทำให้มียอดสะสม 24,786 ราย เสียชีวิตสะสม 82 ราย โดยระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63-16 ก.พ.2564 สะสมรวม 20,549 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบฯ 5,635 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 14,038 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของสมุทรสาคร จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้จะคิดเป็น 80-90% แต่ช่วงหลังมีการค้นหาเชิงรุกในโรงงานขนาดใหญ่ผ่านพ้นไปก็เริ่มลดต่ำลงเรื่อยๆ คิดเป็น 23.2% ส่วนภาพรวมของระลอกใหม่ 79.3% ส่วนกทม.อยู่ที่ 4.7% และจังหวัดอื่นๆ 16%

“ทิศทางจ.สมุทรสาคร วันนี้ตัวเลขติดเชื้อลดลง แต่ปทุมธานีที่เพิ่มขึ้นวันนี้ 48 ราย จากเมื่อวาน 50 ราย ก็มาจากการตรวจเชิงรุก และพบที่เกี่ยวเนื่องจากผู้ป่วยเก่าก็มีนครปฐม พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่นอย่างละ 1 ราย จังหวัดอื่นๆยังไม่มีรายใหม่ขึ้นมา จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ที่เราผ่อนคลายในช่วงก.พ.นี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงมากลางเดือนถึงปลายเดือนจะมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนมาตรการอย่างไรต่อไป” นพ.เฉวตสรร กล่าว

กรณีการกระจายผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อคลัสเตอร์เชื่อมโยง รปภ.จุฬานิวาสน์ ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.-13 ก.พ.2564 นั้น มีผู้ติดเชื้อ 22 ราย เป็นชาย 14 ราย หญิง 8 ราย โดยกลุ่มอายุสูงสุดอยู่ที่ 40-49 ปี อย่างไรก็ตาม พบว่าครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ส่วนคนที่มีอาการพบว่า ไอ เด่นที่สุด รองลงมาคือ เป็นไข้ มีน้ำมูก มีเสมหะ ปวดศีรษะ เป็นต้น ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคทำให้เชื่อมโยงและพบว่า พักในตึกจุฬานิวาสน์เดียวกัน รับประทานอาหารร่วมกัน และนำเชื้อไปติดในครอบครัว

ข้อค้นพบอีกอย่างคือ มีการตรวจเจอเชื้อในจุดสแกนนิ้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญเราต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วย ซึ่งการเจอเชื้อที่ผิวสัมผัส ก็เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่า ใครมาสัมผัสตรงนี้จะป่วยหมด เพราะเวลาเชื้อไวรัสอยู่นอกร่างกายคน โอกาสเชื้อตายมีง่ายมาก ซึ่งอาจเป็นซากเชื้อ แต่ก็เป็นสิ่งเตือนว่าเราควรต้องระมัดระวังป้องกันตัว ในการล้างมือบ่อยๆ ใช้เจลแอลกอฮอล์ ก็สามารถป้องกันได้ ส่วนการกินข้าวร่วมกัน ยิ่งคนรู้จักสนิทกันก็อาจทำให้ไม่ได้ระมัดระวังป้องกันตัวได้

 

ทั้งนี้ มีการสรุปการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ กทม. แบ่งเป็นตรวจในตลาด โดยเริ่มดำเนินนการตรวจตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.63 เป็นต้นมา ตรวจไปแล้ว 466 ตลาด ตรวจพ่อค้าแม่ค้าผู้เกี่ยวข้องกับตลาดไปแล้ว 44,323 ราย ตรวจพบติดเชื้อ 14 ราย คิดเป็นอัตราติดเชื้อที่ 0.03% ส่วนสถานประกอบการเริ่มดำเนินการตรวจตั้งแต่ 25 ธ.ค.2563 เป็นต้นมา ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 128 แห่ง ตรวจแรงงานในสถานประกอบการไปแล้วรวม 16,177 คน ตรวจพบการติดเชื้อ 65 ราย พบเป็นกลุ่มก้อน 5 โรงงานดำเนินการควบคุมแล้ว คิดเป็นอัตราติดเชื้อ 0.40% ส่วนการตรวจในชุมชนเริ่มดำเนินการตรวจตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2563 ตรวจประชาชนในชุมชนแล้ว 4,654 คน ตรวจพบการติดเชื้อ 35 ราย คิดเป็นอัตราติดเชื้อ 0.75%