ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ตั้งโต๊ะแถลงปมอภิปรายไม่ไว้วางใจการจัดหาวัคซีนโควิด19 เหตุอาจทำให้คนเข้าใจผิด พร้อมเผยข้อเท็จจริงปลดเปลือก ทั้งวัคซีนแอสตราฯ ซิโนแวค หรือโครงการโคแวก็ซ์ ด้านคร.เผยเตรียมระบบสปสช. ม. 41 ชดเชยหากมีผลข้างเคียงจากวัคซีน ข้อสงสัยปมอภิปรายบางประเด็นเป็นข่าวเท็จ

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจงกรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สำหรับประเทศไทย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากการอภิปรายที่เกิดขึ้น มีความเกี่ยวข้อง สธ. อย่างมาก ดังนั้นทางกระทรวงฯ จึงต้องออกมาทำความเข้าใจ โดยเฉพาะวัคซีนโควิด-19 ด้วยเวลาผ่านมา 1 ปีไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ แม้การระบาดรอบสองก็สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น ต่อไปก็จะเป็นใช้วัคซีน โดยช่วงแรกของการระบาด ยังไม่มีวัคซีนเพราะต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อความปลอดภัย แต่การทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า การใช้วัคซีนเพื่อป้องกัน ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ แม้ว่าวัคซีนจะป้องกันระดับบุคคลด้วย โดยไทยได้เตรียมการเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็วและครอบคลุมถึง 63 ล้านโดส จากเดิมที่การแพทย์เราเคยฉีดวัคซีนได้ปีละ 10 ล้านโดส แต่ปีนี้เป็นงานหนักที่เราจะเร่งฉีดให้ครบ 63 ล้านโดสในปี 2564 ซึ่งย้ำว่า ขณะนี้ ประเทศไทยมีวัคซีนในมือ 63 ล้านโดสและได้เตรียมแผนการฉีดไว้แล้ว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” แจงกลับ “วิโรจน์” หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจการจัดหาวัคซีนโควิด)

นพ.นคร กล่าวว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มอบหมายให้ทางสถาบันวัคซีนฯ เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามข้อมูลและวางแผนจัดหาวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 2563 ใน 3 ช่องทาง คือ 1.การสนับสนุนการวิจัยในประเทศ 2.การแสวงหาความร่วมมือเพื่อวิจัยพัฒนากับต่างประเทศ และ 3.การติดตามการวิจัย การพัฒนาการผลิตเพื่อจัดหาวัคซีนโดยตรงการบริษัท โดยทั้ง 3 ช่องทางเริ่มพร้อมกันตั้งแต่ เม.ย. ทั้งนี้ เมื่อเริ่มมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์ฯ เราก็เริ่มติดตามข้อมูล เพื่อให้รู้เท่าทันว่าวัคซีนชนิดใดมีความก้าวหน้าขนาดไหน เราพบว่า วัคซีนชนิด mRNA และ Viral vector มีความก้าวหน้าทัดเทียมกันในวิจัย เริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1-2 ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเราคาดว่า 2 ชนิดนี้จะสำเร็จใกล้เคียงกัน ดังนั้น เราจึงเริ่มแสวงหาความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศ

“ส่วนการเจรจากับต่างประเทศ เช่น จีน เราก็เจรจาสอบถามข้อมูล หรือหน่วยงานของอังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม หน่วยงานที่พัฒนาวิจัยวัคซีนเราก็ได้เจราจาขอข้อมูล แต่สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ คือ การที่เราจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เราตั้งใจไว้มาก เพราะจะตอบโจทย์ในการระบาดเวลานี้และเพื่อรับมือการระบาดในอนาคตที่อาจจะมา”นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร กล่าวว่า ในช่วง ก.ค.-ส.ค. 2563 มีข้อมูลว่า บริษัทแอสตราเซเนกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พัฒนาการผลิตวัคซีนเทคโนโลยีชนิด Viral vector ได้หาพันธมิตร เขาได้ทบทวน ประเมินศักยภาพบริษัทต่างๆ ของไทย ซึ่งบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีความเหมาะสมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิต จึงเป็นที่มาในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเล็กน้อยให้รองรับเทคโนโลยีการผลิตให้เร็วที่สุด ดังนั้น จึงเป็นการการเจรจาจองซื้อวัคซีนที่ไม่ธรรมดา หากเราจองกับบริษัทอื่น คือการซื้ออย่างเดียว แต่กับแอสตราเซเนกา ไทยจะได้รับศักยภาพผลิตวัคซีนระดับโลกไว้ในประเทศ

“จะอยู่กับรัฐหรือเอกชน ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่อยู่ในประเทศไทย และสำคัญที่สุดคือเราจะได้พัฒนาศักยภาพของเราโดยเทคโนโลยีระดับโลก โดยเอกสารจดหมายจากบริษัทแอสตราฯ ระบุเนื้อความว่า เขามีความยินดี ที่จะแจ้งให้เราทราบว่า เขามีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในศักยภาพของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เขาได้คัดเลือกตั้งแต่ควอเตอร์ที่ 2 หรือไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่า แอสตราฯ เขาได้ประเมินศักยภาพ ความเชื่อมั่นเกิดจากการประเมินสยามไบโอไซเอนซ์อย่างเข้มข้น ในเรื่องมาตรฐาน ความสามารถ และพบว่าสยามไบโอไซเอนซ์มีความสามารถในการรองรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตได้ใน เดือน ต.ค. เป็นหลักฐานสำคัญว่า แอสตราฯ เป็นผู้ประเมินคัดเลือก แล้วเขาจะมาแจ้งเราว่า หากจะให้ดีประเทศไทยควรจองผลิตวัคซีนกับเขา เพราะเป็นการผลิตในประเทศ และบอกอีกว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มใน ต.ค. แม้ว่าเรายังไม่ได้อนุมัติเลยด้วยซ้ำ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขว่า ต้องจองก่อนถึงจะถ่ายทอดให้ และไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขว่าต้องจองเท่านั้นเท่านี้ แต่อยู่ในเงื่อนไขว่า เราจะร่วมกันเป็นหน่วยงานผลิตวัคซีน ให้กับภูมิภาคอาเซียน เราจึงบรรลุข้อตกลงสำเร็จ” นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร กล่าวว่า สิ่งที่ตนอยากเน้นย้ำในจดหมายที่แอสตราฯ ระบุ คือ มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นฮับ(Hub) ผลิตวัคซีนกว่า 60 ประเทศ/บริษัท โดยแอสตราฯ คัดเลือกเพียง 25 แห่ง ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 เนื่องจากแอสตราฯ ได้ประเมินผู้ผลิตทั่วโลก แต่เลือกเพียง 25 แห่ง และย้ำว่าเป็นมาตรฐานการผลิตที่ดี เรียกว่า Good Manufacturing Practice: GMP และมาตรฐานผลิตวัคซีนที่ได้คุณภาพ จึงขอให้มั่นใจในศักยภาพคนไทย ไม่แพ้ใครในโลก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องมีวัคซีนหลายชนิดแต่ขอให้มีมากเพียงพอ ครอบคลุมประชากร จัดบริการฉีดให้ได้คุณภาพ

นพ.นคร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการจองซื้อวัคซีนจากทุกแห่ง เช่น โคแวกซ์ (COVAX) แอสตราฯ ลักษณะเป็นเหมือนกันคือ จ่ายเงินไปบางส่วนเป็นค่าจองวัคซีน แต่มีความต่างคือ เงินค่าจองกับแอสตราฯ จะเป็นส่วนหนึ่งของราคาวัคซีน แต่หากเป็นของโคแวกซ์ เงินที่จ่ายไป หรือ Up-front payment ในรายละเอียด คือ ค่าบริหารจัดการไม่ใช่ค่าวัคซีน ส่วนราคาจะถูกกำหนดภายหลังที่รู้ว่ามาจากบริษัทใดและเป็นราคาจริงที่ผู้ผลิตกำหนดอีกที ดังนั้น จึงเป็นความต่างกัน ดังนั้น ในการอภิปรายในสภาฯ หากข้อมูลไม่ครบถ้วนก็จะเกิดความเข้าใจผิด

“ส่วนข้ออภิปรายที่ว่า บริษัทวัคซีนของอินเดียมาเสนอให้เราซื้อ ทำไมเราไม่ซื้อ เป็นข่าวจากโซเซียล เป็นข่าวเท็จ เพราะความจริง คือเราทำความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยวัคซีนกับอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละบริษัท แต่พอผู้ที่โพสต์ข่าวไม่ได้ตรวจสอบ ฟังต่อๆ กัน ก็กลายเป็นเราปฏิเสธการเสนอซื้อวัคซีนจากแอสตราฯ ในประเทศอินเดีย ขอยืนยันว่าเป็นข่าวเท็จ ไม่มีการเสนอการขายวัคซีนแอสตราฯ จากอินเดียให้กับไทย แต่เป็นการเสนอความร่วมมือวิจัยกับอีกบริษัทหนึ่งด้วย เราก็ได้รับไว้ ทำข้อตกลงบันทึกความเข้าใจร่วมกันแล้ว” ผอ.สถาบันวัคซีน กล่าว

นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนความร่วมมือกับโคแวกซ์ ประเทศไทยยังเดินหน้าเจรจาร่วมกันอยู่หากมีเงื่อนไขและข้อมูลที่เหมาะกับไทย การที่ผู้อภิปรายดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ หากดูรายละเอียดจริงๆ จะทราบว่าวัคซีนที่จะส่งมอบผ่านโคแวกซ์ คือวัคซีนจากแอสตราฯ และมีส่วนน้อยจากบริษัทไฟเซอร์ เพราะเพิ่งเข้าร่วมโคแวกซ์ในเดือน ม.ค.2564 โดยก่อนหน้านี้วัคซีนที่มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ในปี 2564 ก็มีเฉพาะวัคซีนจากแอสตราฯ ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมโคแวกซ์ เพื่อให้วัคซีนจากแอสตราฯ ซ้ำกับการผลิตในประเทศไทยอยู่แล้ว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดวัคซีนแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 วัคซีนมีจำกัด ขณะนี้เป็นวัคซีนเชื้อตาย ของซิโนแวค 2 ล้านโดส เราวางแผนว่าจะฉีดใน 1.บุคคลเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 2.พื้นที่เสี่ยง เพราะเป็นวัคซีนนอกแผนเดิมที่กำหนดว่าจะฉีดในเดือนมิ.ย.จากแอสตราฯ คือ สมุทรสาคร กทม.และปริมณฑล อาทิ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และ 3.กลุ่มอาชีพเสี่ยง คือ บุคลากรสาธารณสุข การทำงานท่องเที่ยว อาชีพที่พบคนหมู่มาก อาชีพที่เดินทางระหว่างประเทศ ระยะที่ 2 มีวัคซีนมากขึ้น และระยะที่ 3 มีวัคซีนกว้างขวาง โดยท่านนายกฯ เร่งรัดมาตลอดว่าให้รวดเร็วที่สุด ทางปลัดสธ. จึงตั้งเป้าหมายว่า เมื่อมีวัคซีนอย่างเพียงพอ ในระยะที่ 2 และ 3 เราจะฉีดให้กับคนไทย 10 ล้านโดสต่อเดือน โดยนับตั้งแต่ มิ.ย. เป็นต้นไป ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ. อภิปรายในสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่ สธ. ทำได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น การได้ผล การกลายพันธุ์ของไวรัส ฉะนั้น แผนของเราต้องมีความยืดหยุ่น ปรับได้แต่โดยหลักการจะไม่เปลี่ยนจากเดิมมาก

นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนการฉีด 10 ล้านโดสต่อเดือน สร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ ดังนี้ โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป จำนวน 150 แห่ง ฉีดได้ประมาณ 200 คนต่อวัน เฉลี่ยวันละ 30,000 คน โรงพยาบาลชุมชนอีกประมาณ 900 แห่ง ฉีดได้ 100 คนต่อวัน เท่ากับ 90,000 คน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 8,000 แห่ง ฉีดได้ 20 วันต่อวัน เท่ากับ 160,000 คน ซึ่งรวมกันแล้วจะได้ประมาณ 300,000 คนต่อวัน นอกนี้ยังมี โรงพบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และอื่นๆ ประมาณ 150 แห่ง ฉีดได้ 200 คน เท่ากับ 30,000 คนต่อวัน ฉะนั้น ภาพรวมจะฉีดได้ 10 ล้านคนต่อวัน

นพ.โอภาส กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ. ได้เตรียมระบบการติดตามหลังฉีดวัคซีน โดยหลังฉีดทันที จะต้องนั่งดูอาการ เป็นเวลา 30 นาที ต่อจากนั้นเมื่อกลับบ้าน ก็จะติดตามต่ออีก 1 เดือน เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ ส่วนการชดเชยความเจ็บป่วยหลังฉีดที่รุนแรง เช่น เข้าโรงพยาบาล เสียชีวิต ซึ่งวัคซีนจากแอสตราฯ ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องวัคซีน แต่ระบบของเราจะชดเชยจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ตามมาตรา 41 ซึ่งผ่านมติกรรมการแล้ว