ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยรายละเอียด “นพ.ปัญญา” ติดโควิดจากผู้ป่วย พบทุ่มทำงานหนักหลังพบผู้ป่วยมีไข้ต่อเนื่อง ตรวจอย่างละเอียดทำให้ต้องใกล้ชิดผู้ป่วย พร้อมเผยข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดรวม 36 ราย อายุเฉลี่ย 36 หญิงมากกว่าชาย พยาบาลมากที่สุด ขณะที่ “นพ.ปัญญา” เป็นบุคลากรรายแรกของไทยที่เสียชีวิต

 

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของนพปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์รายแรกของประเทศไทย ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 โดยจากรายงานการสอบสวนโรค พบว่า นพ.ปัญญา อายุ 66 ปี มีโรคประจำตัวที่รับการรักษาต่อเนื่อง คือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และถุงลมในปอดโป่งพอง ติดเชื้อโควิด 19 จากการรักษาผู้ป่วย 3 รายที่คลินิกส่วนตัว ทราบภายหลังว่าทั้ง 3 รายตรวจพบเชื้อโควิด 19 โดย 1 ใน 3 ราย มีอาการไข้ต่อเนื่องหลายวัน จึงได้ทำการตรวจอย่างละเอียด อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น ตรวจการอักเสบภายในลำคอ การเคลื่อนไหวของลิ้นไก่ ทดสอบการหายใจเพื่อฟังเสียงของปอด เช็คภาวะปอดอักเสบ จึงอาจสัมผัสกับละอองฝอยหรือน้ำลายผู้ป่วยที่มีเชื้อโควิด 19 ที่ตกอยู่ หรือผ่านทางรอยต่อของหน้ากากอนามัยได้

ทั้งนี้ นพ.ณัฐพงศ์ ยังให้ข้อมูลไทม์ไลน์กรณี นพ.ปัญญา ว่า จากประวัติมีการตรวจผู้ป่วย 3 ราย ในวันที่ 13 ม.ค. 14 ม.ค. และ 25 ม.ค. โดยไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อฯ มาก่อน เพิ่งมาทราบในภายหลัง จากนั้นเมื่อนพ.ปัญญา ตรวจพบเชื้อโควิด การรักษาระยะแรกอยู่ที่รพ.มหาสารคาม เป็นไปตามมาตรฐาน มีการให้ยาแล้วอาการดีขึ้น แต่กลับมีอาการขึ้นมาอีก โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. เริ่มมีภาวะปอดอักเสบ ตับอักเสบ อาการของไตวาย ต้องฟอกเลือด วันที่ 7 ก.พ. เริ่มมีอาการหายใจเหนื่อย แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งต่อรพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการดูแลอย่างดี แต่การทำงานของปอด ตับ ไต มีการทำงานแย่ลงเรื่อยๆ จนวันที่ 16 ก.พ. เริ่มตรวจพบการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อรา บ่งบอกว่าภูมิต้านทานไม่ดี ทำให้ปอดทำงานแย่ลง ระบบหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต ในวันที่ 18 ก.พ. เวลา 01.00 น. ทั้งนี้ ทีมแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด -19 และมีภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ ระบบหลอดเลือดล้มเหลว และนำมาสู่การเสียชีวิต

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนแก่บุคลากรทางการแพทย์ ในการเพิ่มความระมัดระวังป้องกันตนเอง โดยเฉพาะขณะให้การรักษาผู้ป่วย แม้มีอุปกรณ์ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดอุปกรณ์ กำจัดขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี รวมถึงจัดสถานที่ให้เหมาะสม จัดระบบระบายอากาศ เว้นระยะห่างกับผู้ป่วย สำหรับประชาชน ขอให้ดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งมีภูมิต้านทานน้อยกว่าปกติ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย หลีกเลี่ยงหรืองดไปในพื้นที่เสี่ยง สถานที่แออัด สวมหน้ากากและหมั่นล้างมือเป็นประจำ หากมีความจำเป็นต้องไปสถานพยาบาล โรงพยาบาล คลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน ควรประเมินและแจ้งประวัติความเสี่ยงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวัง ช่วยลดการแพร่-รับเชื้อได้

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ (วันที่ 15 ธันวาคม 2564 – ปัจจุบัน) ได้รับรายงานบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด 19 แล้วจำนวน 36 ราย อายุเฉลี่ย 36 ปี (ต่ำสุด 21 ปี สูงสุด 70 ปี) เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานตั้งแต่ 20 ปี – 49 ปี เป็นพยาบาล 9 ราย แพทย์ และ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างละ 4 ราย, เภสัชกร 3 ราย, นักเทคนิครังสี/ผู้ช่วยนักเทคนิครังสี 2 ราย, ทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักศึกษาแพทย์ พนักงานเวรเปลอย่างละ 1 ราย , เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ธุรการ ชันสูตรศพรวม 8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสจากผู้ป่วย หรือใกล้ชิดคนในครอบครัว ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ล่าสุดพบนักศึกษาแพทย์คาดว่าติดเชื้อจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จึงขอความร่วมมือผู้ป่วยและญาติเมื่อเข้ารับรักษาหรือพบแพทย์ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของตนเองและบุคลากรทางการแพทย์  ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเป็นรายจังหวัดพบว่าอยู่ที่กทม. 12 ราย สมุทรสาคร 12 ราย นนทบุรี 3 ราย เพชรบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น ชลบุรี ตาก ปทุมธานี ราชบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย

ส่วนข้อกังวลเรื่องการขาดแคลน หลอดฉีดยาและเข็มฉีดยาเมื่อต้องมีการจัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวนมากให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในประเทศ นั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เมื่อวัคซีนมาถึงเข็มฉีดยาและหลอดฉีดยาจะมีเพียงพอ โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดเตรียมชุดสำหรับฉีดยา สั่งซื้อจากโรงงานผู้ผลิตในประเทศสำหรับวัคซีน 2 ล้านโดสแรกไว้แล้ว 2.6 ล้านชุด ส่วนอีกกว่า 60 ล้านโดส ที่จะฉีดในระยะต่อไป ได้สั่งจองภายในประเทศแล้วเช่นกัน พร้อมจัดส่งทันเวลาการฉีดวัคซีน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง