ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คืบหน้าบุคลากรทางการแพทย์สมัครใจรับวัคซีนโควิดกว่า 2 แสนคน ชี้ 22 ก.พ. ทราบพื้นที่- รพ. รับวัคซีนโควิด19 ล็อตแรก 2 แสนโดส ย้ำจุดระบาดหนักต้องให้ปชช.กลุ่มเสี่ยงด้วย ล่าสุดบริษัท ดีเคเอสเอช ร่วมกับ อภ. เตรียมระบบจัดเก็บกระจายวัคซีนโควิด 2 ล้านโดส ไม่คิดค่าใช้จ่าย ด้าน “หมอโสภณ” เผย สธ.จัดสรรงบให้ รพ. ซื้อตู้แช่วัคซีนเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย การจัดเก็บ จัดบรรจุ และกระจายวัคซีนโควิด-19 ระหว่าง องค์การเภสัชกรรม โดย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด โดย นาย จอห์น แคลร์ รองประธานฝ่ายบริหารหน่วยธุรกิจ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ประเทศไทยและอินโดจีน (เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว) บริษัท ดีเคเอสเอช ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการจัดเก็บและกระจายวัคซีนโควิดจากซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส

นพ. โสภณ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการเข้ามาของวัคซีนโควิด19 จาก บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ไซเอน ประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งจำนวนวัคซีนดังกล่าว เป็นไปตามคณะรัฐมนตรี ที่มีมติเห็นชอบให้จัดหาวัคซีนเร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโดส รองรับระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ เพิ่มจากแผนจัดหาเดิมที่กรมควบคุมโรคสั่งซื้อจากบริษัทแอสตราเซเนกา (Astra Zeneca) โดยเจรจากับบริษัทซิโนแวค ( Sinovac Biotech Limited People’s Republic of China) ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถส่งวัคซีนได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มอบให้องค์การฯ เป็นผู้ดำเนินการ นำเข้าและขึ้นทะเบียนยา กรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดซื้อและกระจายผ่านองค์การฯ ไปสู่ประชาชนต่อไป ประชาชน 1 คนจะได้รับการฉีดวัคซีน จำนวน 2 โดส รวมทั้งจะได้รับวัคซีนของบ.แอสตร้า เซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 และนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติวัคซีนเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส รวมวัคซีนที่จะฉีดให้คนไทยคือ 63 ล้านโดส ครอบคลุมได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของคนไทย

“วัคซีนซิโนแวคที่จะเข้ามาล็อตแรก 2 แสนโดสจาก 2 ล้านโดสในวันที่ 24 ก.พ.นี้ และ งวดที่ 2 จำนวน 800,000 โดส ส่งมอบในเดือนมีนาคม งวดที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดส ส่งมอบในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น จำนวน 2 ล้านโดส โดยวัคซีนทั้งหมด 2 ล้านโดสนี้ องค์การฯได้ร่วมมือกับ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ บรรจุ ภายในห้องจัดเก็บยาเย็น และกระจายภายใต้มาตรฐานสากล ไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับประชาชนที่กำหนดไว้ โดยบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดสนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” นพ.โสภณ กล่าว

ด้านนพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า เมื่อถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลาประมาณ 11.00 น จะผ่านพิธีการทางศุลกากร และ มีการตรวจโดยอย.แล้ว จะถูกนำส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด -19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) เพื่อพักรอกระจายวัคซีน ต่อไป หลังผ่านการตรวจสอบประสิทธิภาพของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลังผ่านการตรวจสอบแล้วจึงจะเริ่มมีการกระจายวัคซีนฉีด ตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด

นพ. โสภณ กล่าวว่า หลังจากรับวัคซีน 2 แสนโดสแล้ว จำนวนที่เหลือจะค่อยๆ ทยอยมา สำหรับการจัดส่งนั้น ทางบริษัทดีเคเอชเอส จะส่งไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่า แต่ละพื้นที่จะจัดส่งไปยังโรงพยาบาลใดบ้าง แต่เบื้องต้นจะจัดส่งไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก อย่างพื้นที่สีแดง หรือกลุ่ม 10 จังหวัด ซึ่งจะมี จ.สมุทรสาคร กทม. และปทุมธานี โดยก็จะพิจารณาว่ากลุ่มไหนเสี่ยงสูงจะได้รับก่อน ที่แน่มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ทั้งบุคลากรนอกกระทรวง อย่างอสม. ประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 18-59 ปีที่ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากซิโนแวค ทดสอบในกลุ่มอายุดังกล่าว ดังนั้น อายุมากกว่านี้จะยังไม่สามารถฉีดได้สำหรับซิโนแวค  

“การพิจารณาพื้นที่ ไปโรงพยาบาลใดบ้าง รวมทั้งกลุ่มรับวัคซีนนั้น จะมีการพิจารณาคาดว่าจะทราบผลชัดเจนในวันที่ 22 ก.พ.นี้ โดยกรมควบคุมโรคจะนำเสนอ คาดว่าจะมีการเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ด้วย ทั้งนี้ขอย้ำว่า ไม่ต้องกังวล ในส่วนของโรงพยาบาลมีการเตรียมพร้อมตู้เย็น ที่จัดเก็บวัคซีน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการจัดซื้อตู้เย็นไว้เตรียมพร้อมรับวัคซีน โดยเฉพาะช่วงมิ.ย.จะมีล็อตใหญ่จากวัคซีนแอสตราฯ เข้ามา ซึ่งกระทรวงฯ มีการเตรียมงบตรงนี้ให้พื้นที่ดำเนินการ เพราะหากไม่เตรียมความพร้อมจะไม่ได้ เพราะนอกจากวัคซีนโควิด ยังมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องมีการตู้เย็นจัดเก็บเช่นกัน อีกทั้ง ทราบว่าสภาอุตสาหกรรมฯ ยังประสานของสนับสนุนตู้เย็นให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจอีกด้วย” นพ.โสภณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ที่สมัครใจฉีดวัคซีนโควิดมีจำนวนเท่าไหร่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้มีกว่า 2 แสนคน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการพิจารณาว่า กลุ่มไหนจะได้รับก่อน แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนจะทยอยเข้ามาประเทศไทย ซึ่งก็จะได้รับกันหมด เพียงแต่ล็อตแรก 2 แสนโดส ซึ่งจะได้รับ 1 แสนคน เนื่องจาก 1 คนต้องฉีด 2 เข็ม

“นอกจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว จริงๆ ประชาชนก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อช่วงแรกวัคซีนมา 2 แสนโดส เราก็ต้องพิจารณาเรียงลำดับว่าใครต้องได้รับก่อน เพราะบางพื้นที่มีการระบาดมาก เราก็ต้องดูรายละเอียด ดูตามสถานการณ์ด้วย สิ่งสำคัญเราต้องมองพื้นที่เสี่ยง และจุดเสี่ยงในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งส่วนนี้กำลังพิจารณากันอยู่” นพ.โสภณ กล่าว

นายจอห์น กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการจัดเก็บวัคซีน โดยจะใช้บรรจุภัณฑ์พิเศษ ที่เรียกว่า “Brilliant Box”ที่ใช้เทคโนโลยีพิเศษในการควบคุมอุณหภูมิของสินค้าในกล่อง เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับการบรรจุและขนส่งยาเย็น เช่น วัคซีนโควิด-19 ที่ต้องคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 – 8 องศาเซลเซียส ตลอดการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ Brilliant Box ยังมีน้ำหนักเบา ทนทาน และสามารถนำมาใช้ซ้ำได้เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ รถขนส่งปรับอากาศของบริษัทยังมีระบบเก็บความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิในรถ เหมาะกับการขนส่งยาเย็นโดยเฉพาะ โดยมีการติดตั้ง Data Logger ที่สามารถตรวจวัดอุณหภูมิภายในรถได้ตลอดการขนส่ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานวิธีการที่ดีในการกระจายยา และมาตรฐานสูงสุดด้านการกำกับดูแลและการประกันคุณภาพ