ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่...ใครได้ ใครเสีย? “ปรับครั้งใหม่ ต้องไม่พลาดซ้ำสอง”

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวในงานแถลงข่าวปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใครได้ ใครเสีย” ว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตปีละกว่า 7 หมื่นคน การที่จะทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง ต้องใช้หลายมาตรการ ทั้งการจำกัดที่สูบ การห้ามโฆษณา การรักษาคนที่ติดบุหรี่ให้เลิก และมาตรการภาษีซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุด ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และการสูบบุหรี่ลดลง ดังที่ธนาคารโลกเรียกว่า เป็นมาตรการที่ Win Win โดยขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษียาสูบ พ.ศ. 2560 ทางสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และนักวิชาการด้านภาษียาสูบ ได้ติดตาม และศึกษาแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลังและรัฐบาล ให้การกำหนดโครงสร้างและอัตราภาษีใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ลดการบริโภคยาสูบได้จริง และทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ พ.ศ. 2560 เป็นรูปแบบผสม โดยเก็บภาษีทั้งตามปริมาณและตามมูลค่า ภาษีตามปริมาณ มวนละ 1.20 บาท แต่ที่เป็นปัญหาคือการเก็บภาษีตามมูลค่าที่แบ่งเป็น 2 ระดับคือบุหรี่ขายปลีกซองละ 60 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษี 40% แต่ถ้าต่ำกว่า 60 บาท ให้เสีย 20% ทำให้บุหรี่หลายยี่ห้อลดราคาลงเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่า ซึ่งต้องถือว่าเป็นมาตรการที่ล้มเหลว ผิดหลักการของภาษีบุหรี่ เพราะไม่ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น แต่กลับลดราคาลง ทำให้คนสูบไม่ลด รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง ชาวไร่ยาสูบเดือดร้อน ซ้ำร้ายบริษัทบุหรี่ข้ามชาติฉวยโอกาสเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดโดยการลดราคาบุหรี่ล่อใจผู้บริโภค

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยข้อมูลจาก Euromonitor ที่สะท้อนให้เห็นว่าหลังจากมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่ราคาถูก (economy price band) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แสดงให้เห็นว่าไม่ลดการสูบแต่ผู้บริโภคเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ราคาถูกกว่าโดยเฉพาะบุหรี่นอกราคาถูกที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งนี้การกำหนดอัตราภาษีครั้งใหม่นี้ต้องไม่พลาดอีก ที่สำคัญต้องให้ภาษีที่เก็บได้ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลและความสูญเสียด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งเคยมีการศึกษาที่ใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2552 คำนวณค่าความสูญเสียจากโรคที่เกิดจากบุหรี่เฉลี่ยอยู่ที่ 42 บาทต่อบุหรี่หนึ่งซอง หากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันความสูญเสียนี้จะตกอยู่ที่ประมาณซองละ 50 บาท นอกจากนี้ควรให้มีการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อช่วยชาวไร่ยาสูบที่เดือดร้อน เช่น เก็บภาษีเพิ่มซองละ 1 บาทตั้งเป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนให้กับชาวไร่ยาสูบ และการกำหนดโครงสร้างภาษีต้องไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบเข้าร่วมในทุกขั้นตอน เพราะขัดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และอดีตนายกแพทยสมาคมโลก ประมาณการว่าในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยด้วยโรคที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ประมาณ 10 เท่าของผู้เสียชีวิต หรือประมาณ 700,000 คน ซึ่งรัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้เฉลี่ยต่อคนถึงประมาณ 2 ล้าน 2 แสนบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายในระดับประเทศรวมปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท (รวมที่มีการจ่ายจากภาครัฐ และภาคเอกชน) ในขณะที่รายรับที่ได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต ปีละประมาณ 60,000 ล้านบาท จึงนับว่าไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาสูบทุกชนิด ที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ เป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าปกติ แต่เป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ที่ต้องมีการควบคุม และจำกัดการจำหน่าย

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว. และเลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้กล่าวย้ำว่าทำไมบุคลากรทางการแพทย์จึงต้องมาหนุนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหม่นี้ เพราะว่าแม้อัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวมของคนไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่อัตรานี้กลับสูงขึ้นในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้วและยังคงสูบบุหรี่อยู่ต่อเนื่องมากถึง 2.48 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีคนไทยอีกจำนวนกว่า 5 ล้านคนที่กำลังเสพติดนิโคตินอย่างรุนแรง และอาจต้องลงท้ายด้วยการป่วยเป็นโรคเรื้อรังเช่นกัน หากยังปล่อยให้สูบบุหรี่ต่อไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องให้การช่วยเหลือแก่บุคคลทั้งสองกลุ่มนี้โดยเร็วทั้งในแง่การรักษาโรคเรื้อรัง และการบำบัดการเสพติดนิโคติน งบประมาณที่ต้องใช้ในทั้งสองส่วนนี้คิดเป็นจำนวนมหาศาล เพียงแค่การรักษาโรคเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ก็ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมากถึงปีละ 27,574 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องจ่ายซ้ำๆทุกปี ทั้งๆที่สาเหตุแท้จริงมาจากการบริโภคยาสูบ ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ยาสูบในครั้งใหม่นี้จึงควรสะท้อนให้เห็นรากเหง้าที่แท้จริงของการบั่นทอนสุขภาพคนไทย โดยเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากธุรกิจยาสูบข้ามชาติอันเป็นต้นเหตุของการคุกคามสุขภาพของคนไทย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในส่วนนี้ลงได้อีกด้วย

ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยาสูบและผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอเพื่อไม่ให้การสูญเสียของชาติในลักษณะนี้คงอยู่ต่อไปดังนี้ 1) ให้คงระบบภาษีบุหรี่ที่มีทั้งอัตราตามสภาพและอัตราตามมูลค่า โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีตามสภาพ (specific rate) ตามอัตราเงินเฟ้อ (inflation rate) ทุกปีหรือเป็นช่วง เช่น ร้อยละ 5 ทุก 2 ปี 2) ให้ยกเลิกระบบที่แยกอัตราภาษีตามมูลค่าเป็น 2 ระดับ (2 tiers) โดยกำหนดเป็นอัตราเดียวอย่างน้อยร้อยละ 40 ของราคาขายปลีก หรือหากไม่ยกเลิก อัตราภาษีในระดับ (tier) ล่างจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของราคาขายปลีก เพื่อผลักดันให้บุหรี่ราคาสูงขึ้นและปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย 3) การดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 ต้องส่งผลให้กำหนดอัตราภาษีโดยรวม ไม่ต่ำกว่าอัตราเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นแบบ 2 ระดับ (2 tiers) 4) ให้กำหนดราคาขายปลีกขั้นต่ำที่รวมต้นทุนทางสุขภาพ เช่น ซองละ 75 บาทเป็นอย่างน้อย 5) ให้มีตัวแทนคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข หรือเครือข่ายนักวิชาการด้านควบคุมยาสูบ ร่วมในการกำหนดนโยบายภาษีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ข้อเสนอต่อการปฏิรูปภาษีครั้งใหม่นี้ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จะทำหนังสือเปิดผนึกถึง รมว. กระทรวงการคลัง และ รมว. กระทรวงสาธารณสุข ต่อไป