ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บ.แอสตราเซเนกาส่งมอบวัคซีนโควิด 117,600 โดสให้กรมควบคุมโรค รอกรมวิทย์ตรวจสอบ  พร้อมแจ้ง “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี รับทราบการฉีด เนื่องจากเข้าเกณฑ์เงื่อนไขรับวัคซีนโควิด19 อายุ 60 ปีขึ้นไป ด้าน “อนุทิน” ยืนยันเอกชนนำเข้าวัคซีนได้ ไม่ปิดกั้น แต่ต้องขึ้นทะเบียน อย.อย่างถูกต้อง ส่วนการเยียวยาหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากรพ.เอกชนนั้น รอข้อสรุปอีกครั้ง

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 8 มี.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้า บริษัท แอสตราเซนเนกา เตรียมส่งมอบวัคซีนโควิด19 จำนวน 117,600 โดสให้กรมควบคุมโรคในเวลา 16.00 น. วันที่ 8 มี.ค. ว่า บริษัทแอสตราฯ เตรียมส่งมอบวัคซีนโควิดให้กรมควบคุมโรค ภายหลังจากที่มีการตรวจสอบเอกสารความปลอดภัยต่างๆแล้ว จากนี้กรมควบคุมโรคจะนำตัวอย่างวัคซีนโควิด19ส่งมอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพก่อนนำมาใช้ในประเทศ ซึ่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แจ้งว่าหากไม่มีปัญหาอะไรจะใช้เวลาตรวจสอบ 2-3 วัน

“เมื่อทราบวันที่สามารถนำออกใช้ได้แน่นอนแล้ว ก็จะนำแจ้งนายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อให้ท่านทราบ และแจ้งวันในการเข้ารับการฉีด เนื่องจากท่านเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนของแอสตราเซนเนกา ที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนดให้ฉีดในคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ และจะใช้สถาบันบำราศนราดูรในการฉีดให้นายกฯ เนื่องจากวัคซีนโควิด19 ยังมีข้อกำหนดให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงต้องดำเนินการในสถานพยาบาลเท่านั้น เพื่อที่จะมีระบบเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนที่สถานพยาบาลเป็นเวลา 30 นาทีด้วย” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนการกระจายวัคซีนแอสตราเซนเนกา ได้ให้นโยบายว่าจะต้องกระจายลงไปในสถานที่และพื้นที่ที่ต้องการวัคซีนจริงๆเพื่อให้เห็นผลและประสิทธิภาพวัคซีน ไม่ฉีดพื้นที่ละเล็กละน้อยเพราะไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น จะต้องโหมฉีดในพื้นที่ที่มีความชุกการระบาดของโรค

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สำหรับแผนการกระจายวัคซีนแอสตราเซนเนกาเบื้องต้น จะกระจายไปใน 5 จังหวัดเพื่อฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คือ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ จังหวัดละหลักหมื่นโดส ส่วนที่เหลือจะสำรองไว้กรณีที่มีพื้นที่ระบาด เช่น จ.ตาก เป็นต้น

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สำหรับการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กรณีที่เอกชนจะนำเข้าวัคซีนโควิด19 ยืนยันว่าเอกชนสามารถดำเนินการได้ ขอให้นำวัคซีนโควิด19ที่จะนำเข้ามาขึ้นทะเบียนกับอย.ให้ถูกต้อง ซึ่งหากมีข้อมูลและเอกสารครบถ้วนตามที่อย.กำหนดก็จะพิจารณาการขึ้นทะเบียนได้ตามข้อกำหนด ยืนยันว่ามีการเปิดกว้างที่จะให้รพ.เอกชนนำเข้า เพื่อมาแบ่งเบารัฐบาล และให้บริการกับผู้ที่ไม่ต้องการรอคิวและมีกำลังที่จะจ่าย แต่ขึ้นอยู่ว่าผู้ผลิตวัคซีนโควิด19จะขายให้เอกชนหรือไม่ด้วย

ยกตัวอย่าง หากรพ.เอกชน จะนำเข้าวัคซีน 2 ยี่ห้อที่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว คือ ซิโนแวคและแอสตราเซนเนกา หากเจรจาสามารถสั่งจากผู้ผลิตวัคซีนรายใดได้ ก็ให้นำเอกสารมาแจ้งที่กรมควบคุมโรค(คร.) เพื่อรับทราบข้อกำหนด หลักเกณฑ์ ข้อบังคับกระบวนการฉีด และการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนโควิต19 โดยจะต้องดำเนินการในหลักเกณฑ์เดียวกับการฉีดในสถานพยาบาลของรัฐ ส่วนการเยียวยาหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับผู้ที่รับวัคซีนโควิด19จากรพ.เอกชนนั้น รอข้อสรุปอีกครั้ง