ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดตัวเลขรับวัคซีนโควิด19 ตั้งแต่ 28 ก.พ.-8 มี.ค. รวม 29,900 ราย ส่วนใหญ่อาการข้างเคียงไม่รุนแรง เบื้องต้นข้อมูลพบอาการรุนแรง 5 ราย เข้าคณะผู้เชี่ยวชาญฯ พบ 1 รายอาจเกี่ยวข้องคซีนแต่ไม่รุนแรง เหลือรอสอบสวนโรคอีก 4 ราย ย้ำทุกรายกลับบ้านแล้ว ส่วนไลน์ “หมอพร้อม” ทยอยใส่รายชื่อผู้รับการฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงกรณีฉีดวัคซีนโควิด19 ของประเทศไทย ว่า ข้อมูลผู้ได้รับวัคซีนโควิดสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-8 มี.ค.2564 รวม 29,900 ราย เฉพาะวันที่ 8 มี.ค. รวม 2,404 ราย เห็นได้ว่าตัวเลขการฉีดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยฉีดไปแล้วประมาณ 33-34% อย่างไรก็ตาม เมื่อฉีดวัคซีนจะมีอาการไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งสามารถพบได้ 1 ใน 3 ของผู้รับวัคซีนโควิด19 อาจพบอาการข้างเคียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยรายงานผ่าน Line official account “หมอพร้อม” รวม 2,380 ราย คิดเป็น 7.96% ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง

ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์ผู้ที่ฉีดจะกดรายงานเข้ามาในระบบ “หมอพร้อม” โดยอาการเหล่านี้จะเป็นอาการข้างเคียงจากการฉีด ที่เกิดขึ้นได้ปกติ บางคนอาจมีอาเจียน ปวดเมื่อยเนื้อตัว อักเสบบริเวณที่ฉีด ไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้น เป็นต้น โดยทั้งหมดจะเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันว่า มีการตรวจ มีการเฝ้าระวังอาการไม่รุนแรงด้วย สรุปคือ อาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง จะมีได้ตั้งแต่ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด และหลายครั้งผู้ที่มาฉีด ก่อนจะฉีดนั้นไม่ได้รับประทานอาหารมา ก็อาจหน้ามืดได้ บางคนกลัวมาก กลัวเข็ม เมื่อฉีดก็เวียนศีรษะได้ ซึ่งก็เป็นปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ไม่ได้ทานข้าว เป็นต้น

“แต่กรณีที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมาก คือ อาการข้างเคียงรุนแรง คือ ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ปากเบี้ยวกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาท กรณีนี้ต้องมีการรายงานเข้ามาในระบบเฝ้าระวัง ซึ่งอาการข้างเคียงรุนแรงจำเป็นต้องสอบสวนโรค โดยข้อมูลวันที่ 28 ก.พ.-9 มี.ค. พบ 5 ราย ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 1 ราย โดยอาจเกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นชนิดไม่รุนแรง และรอการเสนอพิจารณา 4 ราย ซึ่งทุกรายกลับบ้านหมดแล้ว ไม่มีรายไหนอยู่รพ.” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงวัคซีนพาสปอร์ต ว่า จริงๆ เป็นเอกสารรับรองการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ในประเทศไทย โดยเมื่อทุกท่านฉีดวัคซีนจนครบตามจำนวนที่ต้องฉีด ซึ่งปัจจุบันมี 2 ยี่ห้อที่ต้องฉีด 2 เข็ม คือ วัคซีนซิโนแวค ต้องฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และ วัคซีนแอสตราเซเนกา ต้องฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ เมื่อฉีดเข็มที่ 2 ครบแล้วก็จะได้ใบรับรองว่าฉีดวัคซีนครบ ซึ่งทุกท่านต้องเก็บเอาไว้ เพราะเกิดวันไหนท่านจะเดินทางไปต่างประเทศ และประเทศนั้นๆต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ท่านก็สามารถนำใบรับรองการฉีด ไปขอกับทางสถานพยาบาลที่ท่านฉีด เพื่อขอเปลี่ยนเป็นเอกสารรับรองการให้วัคซีนป้องกันโรคระหว่างประเทศ มีลักษณะเป็นเล่มเหลือง ถือเป็นเอกสารทางราชการ โดยกรมควบคุมโรคเป็นผู้ผลิต

ดังนั้น หลักเกณฑ์ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนหรือยาป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศนั้น จะแบ่งเป็นคุณสมบัติและข้อกำหนดของหน่วยงานที่ขออกเอกสารรับรอง ก็จะเป็นโรงพยาบาล ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ คลินิกเวชศาสตร์การเดินทางสังกัดกรมควบคุมโรค ส่วนคุณสมบัติและข้อกำหนดของผุ้ลงลายมือชื่อในเอกสารรับรองจะเป็นแพทย์ หรือพยาบาล หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นต้น

ด้าน ผศ.(พิเศษ) นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดำเนินงานไลน์ "หมอพร้อม" กับการฉีดวัคซีนโควิด19 ว่า สามารถเข้าระบบ “หมอพร้อม” ได้ทางไลน์ออฟฟิสเชียล โดยหากเป็นกลุ่มเป้าหมายการรับวัคซีนกลุ่มแรกก็จะอยู่ในระบบหมอพร้อมแล้ว ซึ่งสามารถเช็กได้ และกรณีที่ยินยอมฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ ท่านยังสามารถเข้าไปเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการฉีดวัคซีนได้ และจะมีระบบนัด ระบบแจ้งเตือนเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 เมื่อ วัน เวลา ไหน เนื่องจากปัจจุบันวัคซีน 2 ยี่ห้อ ยังต้องรับ 2 เข็ม ซึ่งอยากให้มารับให้ครบ เพราะถ้ารับไม่ครบ ประสิทธิภาพจะลดลง หากรับจนครบ 2 เข็มก็จะได้รับประสิทธิภาพเต็มที่

“การลงทะเบียนหมอพร้อม ให้เข้าไปทางระบบไลน์ออฟฟิสเชียล และเพิ่มเพื่อน จากนั้นลงทะเบียน ซึ่งหากท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรกที่ต้องรับวัคซีน ทางกระทรวงสาธารณสุขจะนำรายชื่อท่านเข้าระบบหมอพร้อมผ่านสถานพยาบาลใกล้บ้านแต่หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็จะแจ้งว่า ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงระยะแรก ทั้งนี้ หากมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ตกสำรวจให้ติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ เนื่องจากยังมีหลายท่านมีความเสี่ยง แต่ไม่ได้อยู่ในระบบก็มีโอกาสเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปตามนโยบายรัฐบาลพื้นที่ต่างๆ ก็จะถูกนำรายชื่อเข้าสู่ระบบ จากช่วงแรกเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มทำงาน และกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งประชาชนทั่วไปทางระบบจะนำรายชื่อจากทะเบียนราษฎร์เข้ามา แต่หากไม่มีท่านสามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านได้” ผศ.(พิเศษ) นพ.สุภโชค กล่าวและว่า หากท่านอยู่ในกลุ่มรับวัคซีนกลุ่มหลัง รายชื่อยังไม่เข้ามาในระบบ อย่าเพิ่งตกใจ รายชื่อจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ จนครบภายในปี 2564 นี้