ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.เห็นชอบหลักการร่างประกาศฯ 2 ฉบับ หลังปรับแก้เพื่อรองรับการจ่ายหน่วยบริการ หนุนยกระดับบริการไปไหนก็ได้ ในเขตที่มีความพร้อมเพิ่มเติม เตรียมเสนอ รมว.สธ.ลงนามต่อไป

 

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ (ฉบับที่ 4) และ (ร่าง) ประกาศกำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการมีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ 4) ซึ่งจะมีการเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายพิจารณารายละเอียดประเด็นด้านกฎหมาย เพื่อเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ลงนามประกาศต่อไป

นางดวงตา ตันโช ประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ เปิดเผยว่า การปรับประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการจ่ายงบค่าเสื่อมเพิ่มให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิสำหรับเขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงการขยายการใช้เงินกัน Virtual account ภายในเขต (Virtual account หมายถึงการกันเงินภายในเขตเพื่อชดเชยค่าบริการที่ต้องตามจ่ายกันเองภายในเขต) รองรับการจ่ายสำหรับกรณีเหตุสมควร เพื่อดำเนินการตามนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

นอกจากนี้ ยังเป็นการกันวงเงินงบจากบัญชีรายได้ (สูง) ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสะสมที่ปลอดภาระการใช้จ่ายวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายดำเนินงานตามนโยบายของเขตอื่นๆ ที่พร้อมเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 และบูรณาการวงเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการตามนโยบายไปที่ไหนก็ได้ของทุกเขต ที่ดำเนินการในปี 2564 รวมถึงงบค่าบริการกรณีผู้มีสิทธิขอเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำ และเข้ารับบริการทันที

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประเด็นการปรับประกาศในครั้งนี้ เป็นการจ่ายให้กับคลินิกในพื้นที่ กทม. ที่มีการปรับจากหน่วยบริการประจำมาเป็นเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยขณะนี้มีหลายเขตพื้นที่ที่ต้องการดำเนินนโยบายเพิ่มเติมมากกว่าที่กำหนดไว้เดิม ให้ดำเนินการเฉพาะเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร และเขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ต่อมาได้ขยายบริการไปยังเขตสุขภาพที่ 7 ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และเขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ ทาง สปสช.จึงตั้งใจรองรับทุกเขตที่มีความพร้อม โดยเพิ่มงบประมาณราว 50 ล้านบาท เพื่อบูรณาการงบประมาณที่จะสนับสนุนให้กับทุกเขตที่มีความพร้อม 

“เราเสนอขอกันวงเงินจากบัญชีรายได้สูงต่ำไว้เพิ่มอีกประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อจ่ายสำหรับเขตที่พร้อมจะขยายการดำเนินการตามนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ผู้มีสิทธิสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ภายในเขต และเสนอขอบูรณาการงบประมาณเดิมที่เตรียมไว้สำหรับจ่ายกรณีประชาชนขอเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยเพื่อให้เพียงกับปริมาณบริการที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้เขตที่จะเข้ามาดำเนินการเพิ่มเติมในปีนี้ จากเดิมมีเพียงเขต 9 กับเขต 13 ขณะนี้ได้เพิ่มเขต 7 เขต 8 และกำลังจะมีเขต 10 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธรอำนาจเจริญ และมุกดาหาร) เข้ามาด้วย นอกจากนี้การปรับปรุงประกาศยังขยายให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคนอกเขตพื้นที่ได้ ซึ่งแม้ว่าเดิมจะสามารถไปรับบริการได้อยู่แล้ว แต่จะแก้ไขประกาศเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว