ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกระทรวงเกษตรฯ ผลักดันกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ หวังสร้างรายได้ให้ประชาชน ด้าน “มนัญญา” ลั่นเตรียมเปิดตลาดกลางรับซื้อเมล็ดกัญชง-กัญชา ขณะที่สธ.บรรจุแผน Service Plan

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมแถลงข่าวการพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการกัญชาในอุตสาหกรรมสุขภาพและการจับคู่เจรจาธุรกิจส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ได้พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า รัฐบาลมีความจริงใจและตั้งใจในการผลักดันสมุนไพรอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมผู้ปลูก คือเกษตรกร ผู้ผลิต หรือภาคอุตสาหกรรม และผู้ขายไปจนถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการใช้สมุนไพรและเป็นการเสริมสร้างรายได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในสายตาประชาคมโลก "กัญชา" เป็นสมุนไพรที่มีค่าและให้การยอมรับมากขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ทั้งการแพทย์ สุขภาพอาหาร และต่อยอดเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ โดยปัจจุบันตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายมีมูลค่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 17 โดยกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมด

“นี่เป็นเหตุผลสำคัญในการผลักดันกัญชาเป็นทางออกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกร อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน จึงได้ส่งเสริมให้พัฒนากัญชาแบบครบวงจร (Product Champion) ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางเกษตรกรผู้ปลูก กลางทางคือผู้ผลิต และปลายทางคือผู้ขายและประชาชน มีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากกัญชงกัญชา เพราะสภาพภูมิอากาศในการปลูก ประสบการณ์ของเกษตรกร และรัฐบาลมีนโยบายในการให้บูรณาการเรื่องนี้ ซึ่งมั่นใจว่าไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการปลดล็อกพืชกัญชา เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า โดยสธ.มอบให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นหน่วยงานหลัก ในการผลักดันพืชสมุนไพร รวมถึงกัญชาและกัญชงทางด้านการแพทย์ให้ไปถึงพี่น้องเกษตรกรรมมากที่สุด โดยทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงการเกษตรฯ อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญที่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกส่วนทุกคนได้พยายามร่วมกันทุ่มเทตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างที่ตนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนี้ ต้องขอขอบพระคุณท่านปลัด สธ. ท่านรองปลัดสธ. อธิบดี ตลอดจนผู้บริหาร และเพื่อนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกท่านที่กรุณาตอบสนองนโยบายกัญชงและกัญชาประโยชน์ทางการแพทย์อย่างดียิ่ง เราผ่านอุปสรรคมากมาย ทั้งการต่อต้านนโยบายของเราว่า กัญชงกัญชาเป็นสิ่งเสพติด สิ่งที่เราทำคือ ให้ผู้ร้ายกลายเป็นพระเอก จากพืชที่ถูกตราว่าเป็นสิ่งเสพติดให้เป็นพืชที่สร้างรายได้ช่วยเศรษฐกิจ ของที่ไม่ดีเราก็ไม่เอามา เราเอามาแต่สิ่งที่ดีมาใช้ โดยส่วนที่เป็นโทษ ส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนทราบข้อมูลจึงนำส่วนที่ดีและมีประโยชน์มาใช้

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้าร่วม 29 บริษัท มีความต้องการวัตถุดิบกัญชารวมกันมากกว่า 30 ตัน ส่วนผู้แทนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย 4 กลุ่ม จาก 5 จังหวัด เป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 30 กลุ่ม รวมพื้นที่ปลูกกัญชามากกว่า 60 ไร่ การจับคู่เจรจาวัตถุดิบกัญชาครั้งนี้ คาดมีมูลค่ามากกว่า 150 ล้านบาท ความคาดหวังว่า กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจจึงมีความเป็นไปได้สูง อย่างไรก็ตาม หลายคนบอกว่าดอกกัญชาเป็นตัวร้าย ผลิตสาร THC ซึ่งเราก็จับตัวนี้เข้าห้องขัง คือ โรงพยาบาล ด้วยการนำไปสกัดเป็นน้ำมันเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดังนั้น สารที่ทุกคนบอกว่าร้าย คือ THC เมื่อนำมาใช้ถูกต้องก็สามารถใช้ประโยชน์ เป็นพระเอกได้

น.ส.มนัญญา กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร จะมีการตรวจสายพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มั่นคงต่อไป ซึ่งจะทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นอกจากนี้ จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกัญชากัญชง โดยจะให้เกษตรกรจังหวัดเข้าไปควบคุมกำกับดูแลในระดับพื้นล่างทำงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด และทางกระทรวงเกษตรฯ จะเปิดตลาดกลางในการรับซื้อเมล็ดกัญชงและเมล็ดกัญชาต่อไป

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 โดยนำไปใช้กับผู้ป่วย ผู้ป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งระยะสุดท้าย เข้าถึงการรักษาด้วยกัญชามากขึ้น และยังเก็บข้อมูลบูรณาการการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าร้อยละ 90 ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ถือว่าการใช้ทางการแพทย์เป็นการใช้ได้ดี รวมทั้งยังบรรจุในแผนระบบบริการสุขภาพหรือที่เรียกว่า Service plan นอกจากนี้ ได้แก้ไขกฎกระทรวงปลดล็อกชิ้นส่วนต่างๆ ของกัญชาไม่เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และในปี 2564 ได้บรรจุกัญชาทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาที่ 20 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงในการรักษาโรค ปัจจุบัน เปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดฯ 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีผู้มารับบริการมากกว่า 65,000 ราย รวมกว่า 100,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ และยังกำหนดให้สมุนไพรกัญชาและกัญชง เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2565 มีการกำหนดวางแผนการพัฒนาสมุนไพรให้ครบวงจรเป็น Product Champions พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดและสร้างเศรษฐกิจได้ และพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจ มีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ยาแผนไทย เพื่อรักษาและดูแลสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยเป้าหมาย 2.ผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนทั่วไป มีเป้าหมายต่อเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้กัญชาผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวจากประสบการณ์ตรง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง