ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขออาลัยต่อการจากไปของ นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จากไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคมด้วยอายุ 93 ปี กองบรรณาธิการ Hfocus ได้รวบรวมข้อมูลประวัติของ นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ กับผลงานด้านสาธารณสุขไว้มากมาย

 

นพ.ไพโรจน์ ได้ชื่อว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของวงการสาธารณสุขไทยและเป็นข้าวรวงใหญ่แห่งวงการสาธารณสุขไทย สมญานามเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากเกียรติประวัติของท่านที่ได้กระทำต่อวงการสาธารณสุขของประเทศในประการต่างๆ   ท่านเป็นหนึ่งในสามนายแพทย์ผู้มีส่วนริเริ่มและก่อตั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือที่เรียกว่า อสม.ซึ่งมีบทบาทในการดูแลระบบสาธารณสุขในระดับชุมชนและเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพและอนามัยของประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้

(ข่าวเกี่ยวข้อง : อาลัย! “นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์” อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ.)

นพ.ไพโรจน์ร่วมกับนายแพทย์สมบูรณ์ วัชโรทัยและนายแพทย์อมร นนทสุต ก่อตั้งอสม.ขึ้น ในปี 2516 และได้กลายเป็นรูปธรรมในการนำนโยบายสาธารณสุขมูลฐานของประเทศและก็สุขภาพดีถ้วนหน้ามาดำเนินการให้เกิดการบรรลุผล

ท่านยังเป็นกองหน้าของงานวางแผนครอบครัวในช่วงปี 2515 และต้องดำเนินการต่อเนื่องมาอย่างยากลำบากและยาวนานร่วมหนึ่งทศวรรษจนในที่สุดก็ทำให้ประเทศลดอัตราการเพิ่มประชากรได้เกินเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

นพ.ไพโรจน์รับราชการอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย จนเริบโตจนเป็นนายแพทย์สาธารณสุขมาห้าจังหวัดและเป็นผู้อำนวยการกองต่างๆในกระทรวงมาถึงห้ากองจึงได้อีกฉายาหนึ่งว่า ชายห้าโบสถ์

หลังจากนั้นท่านก็เติบโตเป็นอธิบดีและปลัดกระทรวงสาธารณสุขและในที่สุดก็ได้ตอบรับการทาบทามจากนายอานันท์ ปันยารชุน ให้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

ตลอดระยะเวลาที่น.พ.ไพโรจน์รับราชการอยู่นั้นท่านได้เป็นหัวหอกของการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางด้านการบริหาร การผลิตแพทย์ รวมทั้งการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ รวมทั้งนโยบายด้านสาธารณสุขหลายประการ

นอกจากนี้ นพ.ไพโรจน์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการย้ายกระทรวงสาธารณสุขจากวังเทวเวศน์มาอยู่ ณ ที่ทำการย่านถนนติวานนท์ อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ออกออกความคิดในเรื่องย้ายที่ทำการของกระทรวงและเป็นผู้เจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทยให้ออกเงินก่อสร้างที่ทำการกระทรวงสาธารณสุขแห่งใหม่แลกกับที่ดินวังเทวเวศน์เป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาท รวมทั้งเจรจากับฝ่ายต่างๆจนบรรลุผลสำเร็จด้วยดี  ท่านยังเป็นผู้มีบทบาทในการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ในปี 2517 และมีส่วนสำคัญในการยกแพทย์แผนไทยมาผสมผสานกับแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน

นพ.ไพโรจน์ได้ชื่อว่าเป็นข้าวรวงใหญ่แห่งวงการสาธารณสุขเพราะ มีการเปรียบเทียบไว้ว่า บุคคลิกของท่านนั้นเสมือนรวงข้าวที่ทุกเมล็ดอวบอ้วน รวงข้าวแบบนี้จะโน้มตัวลงต่ำยังความชื่นใจให้แก่ชาวนาผู้เป็นเจ้าของฉันใด นพ.ไพโรจน์ก็เป็นผู้อ่อนน้อมเป็นกันเองเข้ากันกับได้ทุกชนชั้น เป็นที่รักใคร่ของผู้คนทั่วไปในทุกวงการ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้กว้างขวางในทุกแวดวงฉันนั้น บุคคลิกดังกล่าวนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้การประสานงานหรือการผลักดันนโยบายต่างๆบรรลุความสำเร็จเช่น มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยจนทำให้นโยบายการวางแผนครอบครัวถูกกำหนดและขับเคลื่อนร่วมกันจนบรรลุเป้าหมาย หรือแม้แต่กับประชาชนท่านก็เป็นที่รักใคร่ ดังที่ปรากฏในประวัติว่า คราวเป็นสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีประชาชนยกที่ดินในอ.สันป่าตองกว่าหนึ่งร้อยไร่ให้ท่านด้วยความเสน่หาเพราะการไปทำงานเรื่องปรับปรุงอนามัยให้ชาวบ้านแต่ท่านก็ปฏิเสธเพราะเห็นว่าเป็นลาภมิควรได้

ในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านได้มีผลงานหลายประการรวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะงานส่วนนี้ ได้มีการแก้ไขทะเบียนตำรับยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมกาเฟอีนและเพิกถอนตำรับยาแก้ปวดที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ทุกตำรับ มีการควบคุมเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนให้ปลอดภัยในการบริโภค”โดยกำหนดให้เครื่องดื่มที่ผสม กาเฟอีนมีกาเฟอีนเป็นส่วนผสมได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ”และให้มีการระบุข้อความที่สลากว่า “ห้ามดื่มเกินวันละสองขวดเพราะหัวใจจะสั่นนอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน”

มีการคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่โดยให้มีเขตปลอดบุหรี่ในที่สาธารณะ จัดให้มีเขตสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและห้ามสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ มีการกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนมีการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้แก่ผู้มีอายุไม่ครบ 18 ปี เป็นต้น

นพ.ไพโรจน์เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2471 ในตระกูลนิงสานนท์ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่เชื้อสายจีนซึ่งมีนิวาสสถานอยู่ย่านถนนสุริวงศ์ บรรพบุรุษในทางบิดานั้นขึ้นชื่อในเรื่องความซื่อสัตย์มาตั้งแต่ยุคปู่คือ อำมาตย์โทหลวงพินิจโภคากร เจ้าพนักงานรับเงินกรมศุลกากร ซึ่งได้ประกอบวีรกรรมอันแสดงถึงความรับผิดชอบเงินหลวงอย่างเหลือเชื่อ ดังที่พระยาอนุมานราชธน อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมศุลกากร ได้บันทึกไว้ว่าหลวงพินิจโภคากรเป็นผู้ที่ไม่เคยบกพร่องเสียหายในหน้าที่ราชการมั่นคงในหน้าที่ราชการดังตัวอย่างเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ได้นำรายได้ ไปฝากธนาคารโดยบรรทุกเรือแจวนำเงินไปฝากธนาคารแล้วเกิดเหตุเรือล่มที่หน้าศุลกากรสถาน หลวงพินิจโภคากรตกลงไปในน้ำเชี่ยวจวนจมน้ำตายแต่ก็ไม่ได้คิดหนีเอาตัวรอดและไม่ละเลยหน้าที่ อุตส่าห์คว้าถุงธนบัตรติดตัวไปได้โดยไม่สูญหาย วีรกรรมนี้ได้รับการยกย่องอย่างดีจากผู้บังคับบัญชาและอานิสงส์นี้ทำให้ลูกชายของหลวงพินิจโภคากรเกือบทุกคนได้รับราชการในกรมศุลกากรและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเงินสืบต่อมา

ฝั่งมารดานั้นเป็นผู้ที่มีเชื้อสายสืบทอดกันมาในตระกูลแพทยานนท์ซึ่งมีบรรพบุรุษหลายท่านสืบเชื้อสายแบะความรู้ในเรื่องแพทย์แผนโบราณและได้รับราขการสังกัดกรมแพทย์ในพระบรมมหาราชวังหรือเป็นหมอหลวงมาหลายชั่วอายุคน

กล่าวคือตั้งแต่ขุนพรหมแพทยา หรือหมออิ่มแพทยานนท์ ผู้เป็นนายเวรกรมแพทยหลวง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า หมออิ่มผู้นี้ได้รับการถ่ายทอดวิชาแพทย์มาจากบิดาคือ ขุนชาติโอสถผู้เป็นแพทย์หลวงรับราชการอยู่ในพระราชวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3ขุนพรมแพทยา มีบุตรสองคนซึ่งได้รับการศึกษาอบรมให้ในวิชาชีพแพทย์ไทยโบราณจนมีความรู้ความชำนาญและรับราชการเป็นแพทย์สังกัดกรมแพทย์ในพระบรมหาราชวังสมัยรัชกาลที่ห้าอีกสองคนคือคุณอุดมโอสถหรือหมอเพ็ชร แพทยานนท์ และ หมื่นชำนาญแพทยาหรือหมอพลอย แพทยานนท์

นพ.ไพโรจน์เป็นปลัดกระทรวงคนแรกที่ได้รับรางวัลครุฑทองคำในฐานะผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่นจากสมาคมข้าราชการพลเรือน นายแพทย์ไพโรจน์ภูมิใจในรางวัลเกียรติยศนี้มากเพราะเป็นข้าราชการพลเรือนคนแรกและปลัดกระทรวงคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

นอกจากมีผลงานอันโดดเด่นมากมายและมีบุคคลิกที่โดดเด่นแล้ว น.พ.ไพโรจน์ยังมีชื่อเสียงในเรื่องการยืนหยัดในเรื่องคุณธรรมและความถูกต้อง คนในกระทรวงสาธารณสุขจึงยอมรับและยกย่องให้เป็นแบบอย่างของผู้นำที่กระทรวงสาธารณสุขพึงจะเป็น