ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การแบนหรือจำกัดการโฆษณาเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) แนะนำให้รัฐบาลนำมาใช้สำหรับการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์องค์การอนามัยโลกยังได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีวิธีการทำตลาดผ่านการโฆษณา และการส่งเสริมการขายที่สลับซับซ้อน ซึ่ง รวมไปถึงการเชื่อมโยงตราสินค้ากับการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมทางวัฒนธรรม การเป็นสปอนเซอร์ และการจัดวางผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่คุ้นตา ตลอดจนมีการใช้เทคนิคการตลาดใหม่ๆ เช่น อีเมล์ SMS podcast เป็นต้น

องค์การอนามัยโลกได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับควบคุมการโฆษณาและการตลาดซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทาง (1) คือ

1. การมีกฎหมายเพื่อควบคุมเนื้อหาและปริมาณกิจกรรมการตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อม จำกัด​ชนิดของสื่อ ควบคุมการเป็นให้สปอนเซอร์ จำกัดหรือห้ามการส่งเสริมการตลาดในกลุ่มเยาวชน และ​ควบคุมกิจกรรมการตลาดผ่านสื่อออนไลน์

2. พัฒนาระบบเฝ้าระวังกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3. มีระบบที่ช่วยในการบังคับใช้กฎหมายควบคุเมการตลาด

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้ช่องทางการเผยแพร่กิจกรรมการตลาดโดยช่องทางออนไลน์ซึ่งสามารถสื่อสารข้ามประเทศหรือเขตการปกครองที่อาจจะมีกฎหมายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะจากสื่อที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เช่น พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ซึ่งมีเนื้อหาว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้ เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสัญลักษณ์ของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงบทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร” ซึ่งเป็นถือเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกซึ่งไม่สามารถควบคุมสื่อที่มาจากต่างประเทศได้

ผู้เขียนซึ่งเป็นทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำการศึกษาเพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของการพบเห็นโฆษณากับการพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้ข้อมุลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราประชากร พ.ศ.2560 พบว่า ผู้ที่พบเห็นโฆษณามีความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์ 27.7% และมีความชุกของการเป็นผู้ดื่มหนัก 12.7% ซึ่งสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยพบเห็นการโฆษณา และเมื่อวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณซึ่งเป็นการปรับเอาอิทธิพลของตัวแปรอื่นๆ ออกไปแล้ว พบว่า การพบเห็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มโอกาสการดื่มแอลกอฮอล์ขึ้น 16% และเพิ่มโอกาสการเป็นดื่มแอลกอฮอล์แบบหนักขึ้น 35% สำหรับในกลุ่มที่เป็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์อยู่เดิมการพบเห็นการโฆษณาจะกระตุ้นให้เพิ่มโอกาสการดื่มหนักขึ้นถึง 51%

ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะมีการควบคุมกิจกรรมการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่การโฆษณาของผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในรูปแบบที่กฎหมายยินยอมหรือการแอบโฆษณาแบบผิดกฎหมายก็ยังส่งผลกระตุ้นพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มแบบดื่มหนักที่เป็นพฤติกรรมการดื่มความเสี่ยงสูงที่ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ดื่มและสังคมรอบข้างได้มากกว่าการดื่มแบบปกติ

อ้างอิง

1.​World Health Organization. Enforce bans or comprehensive restrictions on alcohol advertising, sponsorship, and promotion.