ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน หากบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือคนไร้รัฐซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย จะเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล คงเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากคนไร้รัฐส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้มีฐานะยากจน ไม่มีเงินที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล

คำมั่น ดวงเดือน อายุ 23 ปี ชาวบ้าน ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ บุคคลที่มีปัญสถานะและสิทธิ เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองว่า เคยไปใช้บริการที่โรงพยาบาลดอยสะเก็ด เสียเงินไป 500 กว่าบาทเพราะว่าไม่ใช่โรงพยาบาลในพื้นที่ซึ่งเธอมีภูมิลำเนา แต่ในช่วง 3 ปีมานี้ เธอเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลหลายแห่งอาทิ โรงพยาบาลหางดง และโรงพยาบาลสารภี โดยไม่ต้องเสียเงินเลย

“ถามพยาบาลว่าทำไมหนูถึงไม่เสีย พยาบาลก็เลยอธิบายมา มีสิทธิออกมาใหม่”

สิทธิออกมาใหม่ดังกล่าวคือ “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53” เป็นการคืนสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับบุคคลกลุ่มนี้หลังจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดการให้ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้สิทธิรักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเคยได้รับมาก่อนหน้านั้นต้องถูกระงับไป

หลักการและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯนี้คือ ระหว่างที่ประชาชนอยู่ในระหว่างกระบวนการเพื่อให้ได้รับสัญชาติไทย ก็ควรให้ได้รับสิทธิขึ้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข โดยเมื่อผ่านกระบวนการและไดรับสัญชาติไทยแล้วก็จะเปลี่ยนไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป

คำมั่น มีเชื้อสายไทใหญ่ สถานะบุคคลของเธออยู่ระหว่างการพิจารณาให้สัญชาติไทย ไม่นานมานี้เธอใช้สิทธิกองทุนในการคลอดบุตร เริ่มต้นด้วยการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลสันทราย แต่ไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้จำเป็นต้องผ่าคลอด ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 3 คืน สิทธิที่ได้รับจากกองทุนฯ ทำให้เธอพ้นจากความกังวลใจในเรื่องค่ารักษาพยาบาลครั้งนี้มาได้

ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คำมั่นเล่าว่า จากข้อมูลที่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งเธอทำงานอยู่ไปสำรวจมาพบว่า ชาวบ้านล้วนแต่มีฐานะยากจน เมื่อเจ็บป่วยก็จะไม่ไปโรงพยาบาล เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล

“เพราะโรงพยาบาลรัฐบาลเองถ้าเราต้องเสียเงินเองก็ไม่ใช่ว่าราคาถูก อย่างชาวบ้านหาเช้ากินค่ำครอบครัวก็ไม่ได้มีเงินมากมายที่จะไปรักษา อยากให้ครอบคลุมทุกชาติพันธ์ เพราะว่าอย่างไรทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกันต้องมีสิทธิที่จะรักษาพยาบาล อยากให้ทุกคนได้มีสิทธิ”

ความยากจนและการไม่มีสถานะบุคคล ไร้สิทธิใดๆ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ อาภา หน่อตา กลุ่มสุขภาวะผู้หญิงชาติพันธ์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับบุคคลไร้สถานะ สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ในอดีตคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือในการเข้าถึงสิทธิการได้รับบริการด้านสาธารณสุข เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมากองทุนนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในกลุ่มมีปัญหาสถานะซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีประมาณ 5 แสนคน

“กองทุนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้คนบางกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ ราวๆ 5 แสนคนได้รับสิทธิรักษาพยาบาลฟรี อย่างน้อยก็ไม่ต้องอมโรคหรือไม่กล้าไปโรงพยาบาล สำคัญที่สุดคือไม่เป็นหนี้โรงพยาบาล อย่างบางคนที่แม่สายไปคลอดลูกคนแรกที่โรงพยาบาล เมื่อไม่มีเงินจ่ายโรงพยาบาลก็ต้องผ่อนชำระไปเรื่อยๆ พอจะไปคลอดลูกคนที่ 2 ก็ต้องถูกทวงหนี้ที่ค้างจ่ายจากคลอดลูกคนแรก หรือบางคนป่วยจนไม่ไหวต้องเป็นกันคนละ 2-3 โรคถึงจะค่อยไปโรงพยาบาล สาเหตุที่ไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะไม่เงินจ่ายค่าหมอ” อาภาอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข

การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) พื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคงและภาคประชาสังคม ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง เสนอเรื่องผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี 4 ครั้ง ช่วยให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิกลุ่มต่างๆ รวมทั้งเด็กนักเรียนในสถานะศึกษาต่างๆ ที่กำลังรอพิสูจน์สถานะ กว่า 8 แสนคน เข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของระบบหลักประกันสุขภาพไทย

ข้อมูลจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า มีผู้มีสิทธิในกองทุนฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังรอพิสูจน์สถานะ จำนวน 547,160 คน กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุในวัยทำงาน ในช่วงอายุ 15-54 ปี

การดำเนินงานของกองทุนฯในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังมีสิ่งที่จะต้องปรับปรุง แก้ไข อีกหลายด้าน ที่สำคัญคือความไม่เท่าเทียมในการเข้ารับบริการเมื่อเทียบกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไป