ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เผยผลสอบสวนโรคย้ำกรณีชายอายุ 41 ปีเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด19 สอบสวนโรคพบ เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองไม่เกี่ยววัคซีน ขณะที่รายอื่นฉีดล็อตเดียวกันรวม 40 คน พบ 5 คนอาการบวมแดงบริเวณฉีด รอผลสอบสวนโรคทางการสัปดาห์หน้า ด้าน “หมอโสภณ” ขอให้ปชช.มีความรอบรู้สุขภาพ เข้าถึง เข้าใจ และนำข้อมูลไปใช้อย่างเหมาะสม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 แถลงถึงกรณีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แต่พบว่ามีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ล็อตซิโนแวค ว่า จากการติดตามข้อมูลในระบบเฝ้าระวังอาการภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 พบว่า มีชายอายุ 41 ปีเสียชีวิต ซึ่งพบว่ามีอาการเส้นเลือดในช่องท้องโป่งพองแตกทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้ จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด19

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ในระบบการติดตามภายหลังการฉีดวัคซีนโควิดนั้น จะมีการติดตามหลังฉีดตั้งแต่ 1 วัน 3 วัน 7 วัน และ 30 วัน โดยเรามีการระบบเพื่อเฝ้าระวังตรวจจับเหตุการณ์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งหลังจากทราบเหตุการณ์นี้ถือว่ารุนแรงพบว่า มีคนเสียชีวิตจึงต้องรีบสอบสวน เบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และเสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในช่องท้องโป่งพองแตกเสียชีวิต ส่วนที่มีการฉีดวัคซีนโควิดก่อนหน้านั้น กรณีนี้ถือเป็นเหตุการณ์ร่วม หรือเหตุบังเอิญร่วม(Coincidence) แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

“สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการเรียนรู้ของประชาชน และสื่อมวลชนเกี่ยวกับความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือที่เรียกว่า Health Literacy คือ การเข้าถึง เข้าใจ และนำข้อมูลที่ถูกต้องไปปฏิบัติ อย่างกรณีชัดเจนว่า สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปิดบังข้อมูลแต่อย่างใด แต่เมื่อเข้าถึงข้อมูลแล้วต้องทำความเข้าใจ ถามข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เพื่อความมั่นใจทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญผลข้างเคียงจะประชุมและแจ้งผลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการฉีดวัคซีนจากประสบการณ์การฉีดวัคซีนมา 1.2 แสนโดสนั้น มั่นใจในระบบและบุคลากรที่ไปฉีดวัคซีนและในอนาคตอันใกล้การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ทำแค่ในโรงพยาบาล แต่คิดว่าคงจะขยับไปยังสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งจะนำร่องที่ จ.สมุทรสาคร ส่วน กทม. มีวางแผนจะฉีดที่ศูนย์อนามัยหรือ mobile คลินิก

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการในการสอบสวนเบื้องต้นแล้วส่งข้อมูลให้ตนเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเป็นผู้ป่วยชาย อายุ 41 ปี จ.สมุทรปราการ มีโรคประจำตัวอยู่เดิมเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเมื่อปลายเดือนมกราคมอยู่โรงพยาบาลหลังผ่าตัดประมาณ 40 วันหลังจากนั้นก็กลับบ้านไปพักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์ด้วยอาการปกติดี ทั้งนี้ ผู้ป่วยเป็นผู้มีโรคประจำตัวจึงไปฉีดวัคซีนโควิดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. หลังจากกลับบ้านพักฟื้น 1 สัปดาห์ และทางระบบก็มีการติดตามอาการหลังรับวัคซีนโควิดตั้งแต่วันที่ 1 วันที่ 3 และวันที่ 7 โดยสามารถติดต่อได้วันที่ 1 และวันที่ 3 ซึ่งอาการสบายดีมาตลอด แต่วันที่ 7 ไม่สามารถติดต่อได้ แต่หลังจากวันที่ 9 หลังรับวัคซ๊นก็พบว่า มีอาการแน่นหน้าอก วงเวียนศีรษะ และเข้าแอดมิทในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งวันที่ 11 มี.ค.2564 และเสียชีวิตวันที่ 13 มี.ค. 2564 โดยสรุปว่าผู้ป่วยรายนี้ คาดว่าเสียชีวิตจากการที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ซึ่งแตกหรือรั่วซึม ถือเป็นโรคเก่าของผู้ป่วยรายนี้ แต่เนื่องจากรายนี้บังเอิญไปฉีดวัคซีนเมื่อ 10 วันที่แล้ว แต่กรณีเสียชีวิตไม่น่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะประชุมและสรุปผลอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า

“จริงๆ มั่นใจได้แล้วว่า กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด อย่างล็อตที่ฉีดวัคซีนล็อตเดียวกันกับผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองนั้น มีทั้งหมด 40 คน พบว่า มี 5 คน หรือประมาณ 10%ที่มีอาการปวดบวมแดงจากวัคซีน ซึ่งไม่รวมกับเคสนี้ เพราะอาการหลังฉีดปกติ อย่างไรก็ตาม คณะผู้เชี่ยวชาญจะสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งจริงๆ สรุปใกล้เสร็จแล้ว แต่เพื่อความมั่นใจจะออกมาอย่างเป็นทางการประมาณ 2-3 วันหรือสัปดาห์หน้า” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ผ่านมาอาการแพ้รุนแรงหลังการรับวัคซีนจะเกิดขึ้นภายในเวลา 15-30 นาทีประมาณ 95% เพราะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย และร่างกายต่อต้านทันที ส่วนอาการข้างเคียงเมื่อมีสารแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายระยะหนึ่ง จึงจะมีอาการเกิดขึ้น โดยมักเกิดใน 48 ชั่วโมง

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองนั้น นับเป็นเส้นเลือดใหญ่ ที่เหมือนเมนท่อน้ำประปา ที่แตกแขนงไปเลี้ยงสมองเลี้ยงแขนขา โดยโรคนี้ส่วนใหญ่มักพบในคนอายุมาก เพราะเมื่ออายุมาก เนื้อเยื่อจะเสื่อม และโรคนี้เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดัน รวมทั้งไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่ และมีส่วนน้อยที่เกิดในเด็ก แต่ก็เกิดขึ้นได้ เนื่องจากตนเป็นหมอเด็กก็เคยเจอว่า หลอดเลือดโป่งพอในเด็กได้เช่นกัน แต่ไม่มาก จริงๆ โรคนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา สำหรับการรักษานั้น หากเป็นก้อนเล็กก็เฝ้าระวังและลดความเสี่ยง แต่หากเป็นก้อนใหญ่แตกจะต้องผ่าตัดทันทีโอกาสรอดมีไม่มากเหมือนกับว่าท่อเมนใหญ่แตกเลือดออกอย่างรวดเร็วความดันสูงมาก แต่หากก้อนใหญ่ แต่ไม่พบว่า รั่วหรือแตกก็จะผ่าตัดใส่สเต็นท์คล้ายหลอดเลือดหัวใจ หรือใส่หลอดเลือดเทียม

ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เผยอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่สุดหลังรับวัคซีนโควิดมี 2 ราย ล่าสุดดีขึ้นกลับบ้านแล้ว