ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยมาตรการผ่อนคลายผู้เดินทางเข้าไทยหลังฉีดวัคซีนโควิด ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน มีผล 1 เม.ย.64 ยกเว้นกลุ่มประเทศภูมิภาคแอฟริกาที่มีเชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงประเทศที่พบการระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าว หวั่นประสิทธิภาพวัคซีนโควิด19 ส่วนแผนกระจายวัคซีนพร้อมเดินหน้า 77 จังหวัด

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการลดจำนวนวันกักตัวของผู้ฉีดวัคซีนโควิด19 ว่า สำหรับมาตรการผ่อนคลาย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย จะมีการลดวันกักตัวทั้งคนไทยและต่างชาติจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ตามประกาศ ศบค.ตั้งแต่ 1 เม.ย.2564 โดยมีข้อแม้ว่าถ้าเป็นคนต่างชาติ จะต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อนว่าไม่พบโควิด19 แต่คนไทยไม่ต้องตรวจก่อนโดยมาตรวจในสถานที่กักกัน นอกจากนี้ จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางพื้นที่ต้นทางที่มีคนเดินทางเข้ามา เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้นถ้าสายพันธุ์ใดแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ประสิทธิภาพป้องกันโดยวัคซีนลดลง และเป็นรุนแรงมากขึ้น ถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่ให้ความสนใจ

“ขณะนี้เป็นที่ยอมรับว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อาจจะทำให้วัคซีนในการป้องกันมีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น ในการประกาศลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน จะมีข้อยกเว้นประเทศต้นทางของผู้เดินทางทุกสัญชาติ ถ้าภายใน 14 วันเดินทางมาจากประเทศที่มีข้อมูลระบาดวิทยาว่ามีสายพันธุ์นี้ระบาดอยู่ หรือมีปัจจัยอื่นที่จะเชื่อได้ว่าจะทำให้ระบบป้องกัน ควบคุมโรคของประเทศไทยเกิดปัญหาขึ้น จะกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต้นทางนั้นเป็นเวลา 14 วัน” นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับตัวอย่างเช่น 10 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ได้แก่

1.สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

2.สาธารณรัฐซิมบับเว

3.สาธารณรัฐโมซัมบิก

4.สาธารณรัฐบอตสวานา

5.สาธารณรัฐแซมเบีย

6.สาธารณรัฐเคนยา

7.สาธารณรัฐรวันดา

8.สาธารณรัฐแคมารูน

9.สาธารณรัฐประชาธิไปตยคองโก

10.สาธารณรัฐกานา

“โดยประเทศที่ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์นี้ในสถานที่กักกันในประเทศไทย คือ สาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐโมซัมบิก ประเทศเหล่านี้เป็นต้น หลัง 1 เม.ย.2564 จะมีการกักตัว 14 วันเท่าเดิม และข้อมูลนี้จะส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ และประกาศในเวบไซต์กรมควบคุมโรค จะมีการอัพเดตทุก 2 สัปดาห์” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวถึงแผนการกระจายและฉีดวัคซีน ว่า ระยะแรกเดือนมี.ค. ได้กระจายวัคซีนไปยัง 13 จังหวัดฉีดได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ช่วงแรกกทม.อาจฉีดต่ำกว่าเป้าหมาย แต่หลังจากปรับระบบการฉีดวัคซีนและติดตามระบบการฉีดวัคซีน ระยะหลัง ทางกทม.ฉีดวัคซีนโควิดได้ค่อนข้างเยอะ และจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งนี้ ในระยะแรกเดือน มี.ค. เม.ย. และพ.ค. เป็นการฉีดเร็วกว่ากำหนด ที่เดิมเรากำหนดมิ.ย. แต่จากการระบาดในพื้นที่สมุทรสาคร และกทม. จึงมีการนำเข้าวัคซีนจากซิโนแวคอีก 2 ล้านโดส ทำให้แผนเร็วขึ้น และเป็นการทดสอบระบบ อย่างไรก็ตาม ยกตัวอย่าง เดือน มี.ค. มีวัคซีนประมาณ 3 แสนโดส โดยซิโนแวค 2 แสนโดส และแอสตราเซเนกา 1 แสนโดส แต่เป้าหมายจริงๆ อยู่ที่ 2 แสนโดส โดยกำหนดจุดเสี่ยงเดือน มี.ค.ไว้ 13 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาด และสถานที่ฉีดในสถานพยาบาล 30 แห่ง หรือคิดเป็นต้องฉีดเฉลี่ย 6,600 โดสต่อเดือน หรือ 330 โดสต่อวัน แต่ขณะนี้ยังไม่ครบ 1 เดือนฉีดไปแล้วกว่า 1.3 แสนกว่าโดสแล้ว

ส่วนเดือนเม.ย. จะมีวัคซีนจำนวน 8 แสนโดส แต่เป้าหมายเราจะฉีด 5 แสนโดส เนื่องจากต้องกันไว้ครึ่งหนึ่งสำหรับฉีดอีกเข็มหนึ่ง ทำให้ยอดที่ต้องฉีดในเดือนนี้ 5แสนโดส เป็น 4 แสนบวกกับ 1 แสนโดสจากของเดือนมี.ค. ซึ่งจะกระจายฉีดให้ครบ 77 จังหวัด ฉีดในสถานพยาบาล 100 แห่ง จำนวนการฉีดเฉลี่ยต่อสถานพยาบาลต่อเดือนอยู่ที่ 5,000 โดส หรือคิดเป็น 250 คนต่อเข็ม ซึ่งเป้าหมายนี้ไม่ยาก ส่วนเดือน พ.ค.จะได้วัคซีนจากซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส เดือนมิ.ย.จะมีวัคซีนทั้งของซิโนแวคและแอสตราฯอีก 6 ล้านโดส สำหรับเดือน ก.ค.มีอีก 10 ล้านโดส ยังมีการฉีดวัคซีนนอกสถานที่ อย่างบางแค แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ความปลอดภัย ของแพทย์ ทั้งหมด