ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งรพ.ชายแดน 10 จังหวัดเตรียมรับสถานการณ์ประชาชนเมียนมาอพยพเข้าไทยหลังการเมืองคุกรุ่น พร้อมประสานส่งวัคซีนให้จนท.ทหาร ตำรวจชายแดน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีการเตรียมพร้อมกรณีชาวเมียนมาอพยพเข้ามาในประเทศไทย สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศว่า ไม่ต้องกังวลเนื่องจากทางฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายสาธารณสุขได้มีการหารือและเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ตนได้พบและร่วมปรึกษากับท่านแม่ทัพภาคที่3 ซึ่งท่านให้ข้อมูลว่าจะพยายามตรึงไว้ให้มากที่สุด โดยจะมีที่พักพิงให้กับชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาโดยไม่ให้เข้ามาในประเทศไทย

นายอนุทิน กล่าวว่า  ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขตนได้เรียนว่าพร้อมที่จะช่วยในเรื่องของการตรวจเชื้อและหากไม่เพียงพอก็จะมีรถพระราชทานในการตรวจเชื้อ หรือชีวนิรภัย และรถวิเคราะ์ผลด่วนพิเศษพระราชทาน ซึ่งพร้อมจะเอาลงไปในพื้นที่ทันที อย่างไรก็ตามในเรื่องของวัคซีนแน่นอนว่ามีการจัดเพิ่มเติมไว้สำหรับบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งล่าสุดก็จะมีมาอีก 800,000 โดส และในเดือนเมษายนนี้ก็จะมาอีก 1,000,000 โดส ซึ่งทางกระทรวงเตรียมพร้อมไว้หมดในการบริหารจัดการวัคซีนโดยยึดหลักความปลอดภัย เพื่อรอการบริหารจัดการวัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือนมิถุนายนนี้

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าวันนี้ได้มีการประชุมสบค.สธ. โดยมีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานที่ประชุมได้มีการสั่งการ ให้โรงพยาบาลตามแนวชายแดน 10 จังหวัด มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การเคลื่อนย้ายประชากรเมียนมา เข้ามายังประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงทั้งหมดได้เตรียมความพร้อมแล้ว 

ขณะเดียวกันขณะนี้มีการปรับแผนการกระจายวัคซีนโดยจะจัดส่งวัคซีนลงไปเพื่อฉีดให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในส่วนของทหาร ตำรวจเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับประชากรเมียนมามากที่สุด โดยขณะนี้ได้ประสานไปยังฝ่ายทหารให้กำหนดอัตราผู้ปฏิบัติงานมาที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดส่งวัคซีนลงไปฉีดในภาวะเร่งด่วนอย่างพอเพียง โดยมีโรงพยาบาลทหารเป็นผู้ดำเนินการฉีดให้ 

ทั้งนี้ในวันที่ 30 มี.ค กระทรวงสาธารณสุข จะมีการรับมอบวัคซีนสิโนแวค 800,000  โดสจากองค์การเภสัชกรรม และจะเร่งกระจายไปตามพื้นที่ชายแดนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลว่าวัคซีนจะไม่เพียงพอเนื่องจากวัคซีนที่เข้ามาก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขได้กันส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว และขอประชาชนอย่ากังวล เนื่องจาก ประชากรเมียนมาร์ที่เข้ามานั้นประเทศไทยให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม โดยการให้อยู่ตามบริเวณจังหวัดชายแดนเท่านั้นไม่ได้มีการอนุญาตให้เข้ามาพื้นที่อื่นของประเทศ