ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ-รมว.สธ. ลั่นไทยเจอวิกฤตโควิด แต่ศักยภาพทางการแพทย์ทำให้ควบคุมการระบาด และรักษาผู้ป่วยได้ทั้งคนไทยและต่างชาติ ย้ำวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 ขวดฉีดได้สูงถึง 11-12 โดส ประหยัดเงินได้ถึงพันล้าน และจะทำให้ไทยมีวัคซีนครอบคลุมประชากรมากจาก 63 ล้านโดส เป็น 72 ล้านโดส เพิ่มขึ้น 20%

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการเปิดงานเสวนา Smart Living with covid-19 save ทุกลมหายใจ พาคนไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก เมื่อต้นปี 2563 แต่ด้วยศักยภาพทางการแพทย์ทำให้ควบคุมการระบาดและทำการรักษาทุกคนที่ป่วยในประเทศอย่างเต็มที่ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ จนสามารถควบคุมการระบาดได้ ทำให้นานาชาติยอมรับในมาตรฐานการควบคุมป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีอัตราการเสียชีวิต ต่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกและน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 7 เท่า เมื่อเทียบกับการระบาดตั้งแต่รอบแรกและรอบใหม่พบว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงมาเหลือร้อยละ 0.1 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 20 เท่า

"ทั้งนี้เราก็หวังว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะมาช่วยปิดจบการระบาดของโรค ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข พยายามในการจัดหาวัคซีนเข้ามาได้จำนวนมากและเพียงพอ ที่สำคัญคือการที่เราจะสามารถผลิตได้เองในประเทศ แบรนด์มาตรฐานโลก คือ แอสตราเซเนกา ซึ่งตามมาตรฐาน 1 ขวด จะฉีดได้ 10 โดส แต่ปริมาณวัคซีนที่ให้มาใน 1 ขวดนั้นจะเกิน ดังนั้นหากเราพยายามฉีดให้ได้ ถึง 11 หรือ 12 โดส ก็จะทำให้เรามีวัคซีนเพิ่มขึ้น จะทำให้สามารถประหยัดเงินได้อีกถึง 1 พันล้านบาท แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราจะ มีวัคซีนครอบคลุมประชากรมากขึ้น จากที่มีอยู่ 63 ล้านโดสก็จะเพิ่มเป็น 72 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรเพิ่มขึ้นอีก 20% ของทั่งหมด" นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้ปรับแนวทางการบริการแพทย์วิถีใหม่ เป้าหมายให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง(Person Base Medical Service) จัดระบบบริการรูปแบบใหม่นำระบบดิจิตอลมาใช้บริการผู้ป่วยที่มากขึ้น เน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ทางการแพทย์เพื่อปรับระบบการทำงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พัฒนารูปแบบระบบบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ ตั้งแต่การคัดกรอง จัดคิวผู้มารับบริการรวมถึงให้บริการให้บริการห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน เพื่อลดความแออัด ลดการแพร่กระจายของเชื้อ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความปลอดภัยระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ผู้ให้บริการ เพิ่มการเข้าถึงบริการที่รวดเร็ว ลดความแออัดในโรงพยาบาล ขณะที่ยังคงความเป็นธรรมในการมารับบริการทางการแพทย์ ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงฯ

"ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้จัดทำแผนประคองกิจการในการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตสำหรับสถานพยาบาล เพื่อให้สามารถบริการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นแผนแม่บทของโรงพยาบาลในการบริหารกำลังคน ทรัพยากรและงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ" นพ.สมศักดิ์กล่าว