ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอสมศรี-หมอประกิต ผนึก 25 นักวิชาการควบคุมยาสูบ ออกแถลงการณ์ถึง ครม. เปิด 7 ข้อเรียกร้อง ภาษียาสูบไทยต้องไม่เดินถอยหลัง เสนอจัดเก็บภาษีทั้งปริมาณ-มูลค่าขายปลีก 32-35%ของราคาขายปลีก ราคาต้องไม่ถูกลง ชี้ รัฐต้องเปิดให้มีส่วนร่วมปรับโครงสร้างภาษี

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลัง  เตรียมจะเสนอโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ให้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการประชุมครม. ในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค.) แทนภาษียาสูบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ครม. พิจารณาข้อเสนอการปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ ดังนี้ 1.โครงสร้างภาษียาสูบที่จะปรับใหม่ ต้องส่งผลดีต่อทั้งการจัดเก็บภาษีของรัฐ และทำให้การสูบบุหรี่ลดลง ตามหลักการที่ระบุไว้ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี 2.ต้องไม่ทำให้ภาระภาษีของสินค้ายาสูบโดยรวมลดลง เพราะภาระภาษีที่ลดลงจะทำให้คนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 3.โครงสร้างภาษีใหม่ควรจะประกอบด้วย ส่วนที่เก็บตามปริมาณ และส่วนที่เก็บตามมูลค่าราคาขายปลีก 4.โครงสร้างอัตราภาษีที่เก็บตามมูลค่าควรจะมีเพียงอัตราเดียว เพื่อป้องกันการลดราคาของบริษัทบุหรี่ ที่สำคัญเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะนำของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก     

  

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวต่อว่า 5.ภาษีที่คิดตามมูลค่าราคาขายปลีก  ควรจะกำหนดเป็นอัตราเดียว เช่น 32-35% ของราคาขายปลีก 6.โครงสร้างภาษีที่คิดตามปริมาณ ที่ปัจจุบันเก็บ 1.2 บาทต่อมวน ควรจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หรือ 1.4 บาทต่อมวน และปรับขึ้นทุก 2 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ 7.ควรจะมีการกำหนดแผนระยะยาวที่จะขึ้นภาษียาเส้น  เพื่อลดความแตกต่างด้านราคาระหว่างบุหรี่ซิกาแรต และยาเส้น  ซึ่งจะช่วยป้องกันการที่ผู้สูบบุหรี่จะหันมาสูบยาเส้นที่มีราคาถูกกว่า ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งนี้  รัฐบาลจะไม่ถูกมองในสายตาของนานาประเทศว่าเดินถอยหลังด้านนโยบายภาษียาสูบ  ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างได้ยกเลิกอัตราภาษีที่มีหลายระดับแล้ว 

    

ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า โครงสร้างภาษียาสูบปัจจุบัน ซึ่งเป็นการจัดทำโดยกรมสรรพสามิต ได้สร้างผลกระทบในทางลบ ทั้งทางด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล เงินนำส่งรัฐจากกำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ลดลง  ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบที่ถูกลดโควตารับซื้อใบยาจาก ยสท. ทำให้เสียเปรียบบริษัทยาสูบต่างชาติ และที่สำคัญไม่ได้ทำให้การบริโภคยาสูบลดลง ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งใหม่นี้ รัฐบาลควรจะเปิดกว้างให้นักวิชาการเกี่ยวกับยาสูบเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงสร้างภาษีใหม่ เพื่อให้เกิดความรอบด้าน และเป็นประโยชน์สูงสุดของคนไทย 

รายชื่อผู้ร่วมออกแถลงการณ์

1.    ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์

ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

2.    ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

3.    ศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ศานติศาสน์

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์

4.    ศาสตราจารย์นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์

ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ

5.    รองศาสตราจารย์สุชาดา  ตั้งทางธรรม

สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย

6.    ศาสตราจารย์นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล

เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

7.    รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา

เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

8.    รองศาสตราจารย์ ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์

ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ

9.    ทันตแพทย์หญิงเรวดี ต่อประดิษฐ์

เครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

10.    รองศาสตราจารย์สุปาณี เสนาดิสัย

เครือข่ายวิชาชีพพยาบาลเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ

11.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย

เครือข่ายวิชาชีพนักสาธารณสุขในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

12.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เปรมทิพย์ ทวีรติธรรม

เครือข่ายวิชาชีพกายภาพบำบัดเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

13.    เภสัชกร ดร.สุวิทย์ ธีรกุลชน

สมาคมเภสัชกรรมการตลาด

14.    นางวรรณิกา มโนรมณ์

เครือข่ายวิชาชีพเทคนิคการแพทย์เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

15.    นางสาวปณิดา มงคลสวัสดิ์

เครือข่ายวิชาชีพนักจิตวิทยาเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

16.    นายธนัท ดลอัมพรพิศุทธิ์

สมาคมสุขศึกษา พลศึกษา และสันทนาการ เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ

17.    นางปราณี สีดาพาลี

เครือข่ายวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

18.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์

เครือข่ายวิชาชีพนักเวชนิทัศน์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

19.    นางจรรยาภรณ์ วงศ์สุขวิวัฒนา

เครือข่ายวิชาชีพแพทย์แผนไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

20.    นายสัตวแพทย์ประเทือง สุดสาคร 

เครือข่ายวิชาชีพสัตวแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

21.    นางลัดดาวัลย์ ครูปัญญามาตย์

เครือข่ายวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

22.    นางพรกมล วัชรสิรยากร

เครือข่ายวิชาชีพแพทย์แผนจีนในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

23.    รองศาสตราจารย์ ดร.สุณี เลิศสินอุดม

เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ (คภยส.)

24.    นายสละ อุบลฉาย

เครือข่ายวิชาชีพนักรังสีเทคนิคในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

25.    นางสาวสังวาล ศิริมังคลากุล

สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

26.    นายสนอง คล้ำฉิม

เครือข่ายหมออนามัยเพื่อการควบคุมยาสูบระดับชุมชน

27.    ด๊อกเตอร์แพทย์หญิง เริงฤดี  ปธานวนิช

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี