ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วง 10 ปีที่มีการให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จากจุดเริ่มต้นการให้สิทธิก็ยังไม่ทั่วถึง ซึ่ง สุมิตร วอพะพอ นักพัฒนาเอกชนองค์การแปลนประเทศไทย ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มคนไร้สัญชาติ เห็นว่าสิ่งสำคัญของกองทุนนี้คือ ต้องให้ครอบคลุมผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิทุกกลุ่ม เนื่องจากมีความจำเป็น นอกจากการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว ยังเป็นผลดีต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศไทยโดยรวม

สุมิตรเห็นว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือความล่าช้าของกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ ซึ่งเห็นได้จากจุดเริ่มต้นในปี 2553 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้สิทธิเฉพาะผู้ที่เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วย 6 ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว และยังไม่ได้สัญชาติไทย เนื่องจากทางการยังไม่รองรับตามกฎหมาย และผู้ที่เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วย 7 ซึ่งเป็นบุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ที่เกิดในประเทศไทย ต่อมาในปี 2558 ครม. ได้อนุมัติให้กลุ่มที่ไม่ได้รับการสำรวจจากปี 2550 หรือเครือญาติคนไร้สัญชาติเพิ่มอีก 2 แสนกว่าคน

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษา 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีสัญชาติ กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ และกลุ่มที่ถือเลข 7 มี เลข 13 หลักแล้วซึ่งกลุ่มนี้รอการพิสูจน์สัญชาติ และอีกกลุ่มคือกลุ่มเปราะบางไม่มีสิทธิเรียนในสถานศึกษา ไม่มีเอกสารยืนยัน โดยมติครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2548 ให้เด็กไร้สัญชาติเข้าเรียนขั้นพื้นฐาน กำหนดเลข 13 หลักขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้เข้าเรียนโดยกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นตัว G ส่วนหลักที่ 2 และ 3 เป็นปี พ.ศ.ที่เข้าเรียน ตามด้วยรหัสจังหวัด

“ปัญหาคือยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ผมคิดว่าควรให้อำนาจทะเบียนอำเภอ เพื่อให้สิทธิกับผู้ที่ประสงค์จะอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องคือไม่ต้องกลับประเทศเดิมแล้ว กับคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติใดๆ กลุ่มนี้ไม่ได้รับการสำรวจจากไทย ไม่เคยขึ้นทะเบียน ซึ่งทำให้ยังใช้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขไม่ได้”

จากประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มคนไร้สัญชาติ สุมิตรเห็นว่าอุปสรรคสำคัญคือความล่าช้าของกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ เขายกตัวอย่างกรณีเด้กนักเรียน G หรือนักเรียนในสถานศึกษาที่ไม่มีสัญชาติ ซึ่งครม.มีมติให้กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจสอบข้อมูลทั่วประเทศ กำหนดเลข 13 หลักเพื่อให้สิทธิเรื่องสุขภาพ หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางด้วยการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีลายเซ็น 3 คนคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน และลายเซ็นผู้อำนวยการโรงเรียน

“ในส่วนของผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นไม่มีปัญหาเลย แต่ที่ได้รับข้อมูลร้องเรียนมาคือมีผู้ใหญ่บ้านบางรายเรียกค่าตอบแทนในการเซ็นชื่อรับรอง ในขณะที่ รพ.สต. เขาไม่รู้จักเด็กก็กล้าเซ็นต์ ผมอยากเสนอให้ตัด ผอ.รพ.สต.กับ ผู้ใหญ่บ้านออก จากปี 2562-2564 เราแก้ปัญหาได้ 9,330 คน แต่ก็เกิดความล่าช้า”สุมิตร กล่าว

นอกจากความล่าช้าในการสำรวจและตรวจสอบสถานะแล้ว สุมิตรยังเห็นว่า ยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคต่อการที่จะได้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขคือต้องรอจนกว่าครม.จะอนุมัติ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยการให้สิทธิ์ทันทีที่บุคคลนั้นได้เลขประจำตัว 13 หลัก

“ในประเด็นการเข้าถึงกองทุนคืนสิทธิอยากให้แก้ไขผู้ที่มีเลข 13 แล้วไม่ต้องเข้าครม.ซ้ำอีกเพราะเป็นการยื่นเรื่องเข้าไปซ้ำซ้อน ให้ได้สิทธิทันที ล่าสุดมีข้อมูลสำรวจพบว่าเหลือกลุ่มนี้อีกประมาณ 5,000 กว่ารายชื่อ ถ้าเป็นแบบนี้คือได้เลข 13 หลักแล้วก็ได้สิทธิขั้นพื้นฐานด้สนสาธารณสุขทันทีไม่ต้องนำเข้าเสนอมติ ครม.อีก” สุมิตรเสนอข้อเรียกร้องเพื่อให้ผู้ที่ได้เลขประจำตัว 13 หลักแล้วสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาบได้ทันที โดยไม่ต้องรอการเสนอชื่อเข้าไปให้ครม.อนุมัติ ซึ่งจะทำให้ล่าช้าออกไปนานหลายเดือน