ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การให้ความช่วยเหลือกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งด้านเขื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม การสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นความจำเป็นที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะมีล่ามประจำโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือเป็นตัวกลางระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้ป่วยที่มาใช้บริการ

จ่ามอ่อง ลุงมู ชาวบ้านต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งเคยใช้สิทธิกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เข้ารักษาอาการบาดเจ็บกระดูกข้อมือเคลื่อน บอกว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาพูดและอ่านเขียนภาษาไทยได้ไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนรุ่นพ่อแม่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านภาษา ส่งผลต่อการใช้บริการ

“คนที่ไม่รู้เรื่องก็จะไปยืนต่อแถว ทั้งๆ ที่คนที่มีบัตรแบบเราต้องไปยื่นอีกช่องหนึ่ง ซึ่งเกิดปัญหามาก บางคนมาโรงพยาบาลจองคิวตั้งแต่ตี 5 แต่ได้ตรวจ 11 โมง เพราะไม่รู้ว่าต้องติดต่ออย่างไร หากมีล่ามประจำโรงพยาบาลจะดีมากเพราะรู้ขั้นตอนการให้ ให้คำแนะนำได้ดีกว่า หรือหากหมอถามอาการก็จะตอบไม่ถูก หมอจะถามอีกว่าความเจ็บถ้าเต็ม 10 ให้เท่าไร ชาวบ้านนี่งงเลย อะไรคือเต็ม 10”

สำหรับหน่วยบริการ นพ.สุพัฒน์ สุขใจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอนเห็นว่าการมีล่ามโรงพยาบาลมีความจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันบุคลากรในโรงพยาบาลก็พอที่จะเป็นล่ามได้ แต่ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.)ในพื้นที่ชายแดนให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ ให้ความรู้ในชุมชนได้

“ล่ามหรือ อสม. ผมคิดว่าควรยกระดับให้เข้าใจด้านสื่อสารให้มากขึ้น ล่ามประจำจริงๆ ในอนาคตอาจจะน้อยลงไปเพราะบุคลากรในโรงพยาบาลก็สามารถพูดคุยสอบถามอาการของผู้ป่วยได้แล้ว แต่ผมคิดว่าควรจะพัฒนาให้คนกลุ่มนี้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะต่อไป”นพ.สุพัฒน์ กล่าว

ด้านนพ.ชัยเนตร เขื่อนเพชร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เห็นว่า หากมองกันจริงๆ แล้ว การมีล่ามไม่ใช่การอำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้ แต่คนที่สะดวกกลับเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อัตราการเสียชีวิตน้อยลง ล่ามโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงซึ่งมีอยู่แล้ว 4-5 คนก็ไม่เพียงพอ เพราะเมื่อมีคนไข้มาหมอก้ไม่เรียกหาญาติแล้ว จะเรียกหาแต่ล่าม ถ้าหมอไม่รู้เรื่องก็จะตรวจช้าไปเรื่อยๆ การมีล่ามคือการเสริมให้กับเจ้าหน้าที่ การช่วยคนไข้ของล่ามก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ก็ถือว่ามีความจำเป็น

สุมิตร วอพะพอ นักพัฒนาเอกชนองค์การแปลนประเทสไทย ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ มองว่า ล่ามประจำโรงพยาบาลมีความจำเป็นมาก ควรมีนโยบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนสำหรับโรงพยาบาลในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธ์ เพราะจะต้องมีงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ นักพัฒนาเอกชนในพื้นที่อ.ปางมะผ้า มีความเห็นประเด็นนี้ว่า ล่ามชุมชนในพื้นที่กลุ่มชาติพันธ์จะมีความรู้เรื่องกองทุนต่างๆ ที่เข้าไปช่วย ต่างจาก อสม.ที่ทำงานทั่วไป เพราะได้รับการฝึกอบรมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอ มีทักษะเฉพาะต่างจากอสม. แม้จะไม่แม่นในประเด็นหลักประกันสุขภาพ แต่อย่างน้อยก็สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายได้ ล่ามชุมชนอาจจะไม่ได้เป็น อสม.ทั้งหมด อาจเป็นคนเข้าอบรม เอ็นจีโอ แกนนำเยาวชนก็ได้ เกื้อหนุนการทำงานโครงข่ายที่กว้างขึ้น

ส่วนประเด็นว่าจะเป็นล่ามชุมชนหรือว่าล่ามประจำโรงพยาบาลนั้น วิสุทธิ์เห็นว่าควรจะมีทั้ง 2 ส่วน เพราะหลักการของกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีเรื่องการสร้างสุขภาพ การสร้างปัจจัยที่ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ สร้างการเรียนรู้ ถ้าติดอยู่กับโรงพยาบาลอย่างเดียวก็อาจทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์

ขณะที่นพ.ชัยเนตร ก็มองว่า ความต้องการล่ามของโรงพยาบาลถ้าจะให้ครบอคลุมต้องใช้ถึง 1จ คน แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงมีอยู่แค่ 4-5 คนเท่านั้น หากมีล่ามของชุมชนก็น่าจะตอบโจทย์นี้ได้ โดยขอความร่วมมือจากอสม.เวียนกันมา แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีการปรับพื้นฐาน เพื่อสร้างมาตรฐานก่อน เพราะไม่ใช่ว่าจะเอาใครก็ได้มาเป็นล่ามชุมชนในเรื่องของการแพทย์

“แม้ว่าล่ามจะแปลจากคนไข้มาให้เราได้ แต่เวลาเขารับสารจากเราเขาไปแปลให้คนไข้ เราก็ไม่รู้ว่าล่ามแปลอะไรไป ไม่สามารรถที่จะตรวจสอบได้ เป็นจุดบอดอย่างหนึ่ง หมอก็ไม่รู้หรอกครับว่าล่ามคุยอะไรกับคนไข้” นี่คือสิ่งที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง โรงพยาบาลชายแดนยังมีความกังวลต่อการสร้างมาตรฐานการทำหน้าที่ของล่ามประจำโรงพยาบาล