ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน ชาญวีรกูล” เล่าประสบการณ์ทำงานร่วม สปสช. เผย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ประชาชนเกิดสิทธิ รักษาที่เท่าเทียม ลดคำว่าผู้ป่วยอนาถา

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่อาคารสำนักงาน บริษัทมติชน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดตัวหนังสือ "ระหว่างบรรทัด" และร่วมเสวนาพิเศษ "ร่วมทางเดียวกัน จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สูตร 30 บาทรักษาทุกที่" พร้อมถ่ายทอดบอกเล่าประสบการณ์ตรงระหว่างตนกับสปสช. ตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงปัจจุบัน

นายอนุทิน กล่าวว่า หากจะให้เล่าจุดเริ่มต้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องพูดถึง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นผู้ริเริ่มกำเนิดนโยบาย ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตนเคยร่วมงานกับกระทรวงฯ ในฐานะ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ต่อจากนพ.สุรพงษ์ ซึ่งเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญมากในการพลิกโฉมระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เพราะประเทศไทย ต้องมีความมั่นคงในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ การเงิน ความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้คนในประเทศมีพื้นฐานสุขภาพที่ดี เข้าถึงระบบสุขภาพได้

"จริงๆ สำหรับผมมีคำหนึ่งที่ผมเกลียดที่สุด เกลียดการที่เห็นเพื่อนร่วมชาติถูกเขียนใบผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยอนาถา คนไข้อนาถา คำนี้มันแสบหัวใจเหลือเกิน แต่เมื่อเรามีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคขึ้นมา ก็ทำให้ประชาชนเกิดสิทธิ รักษาที่เท่าเทียม การให้บริการคนไข้ทุกคน ลดคำว่าผู้ป่วยอนาถา เพียงเท่านี้ก็ทำให้เจตนารมณ์ของโครงการประสบความสำเร็จแล้ว" นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามถึงช่วงปัจจุบันของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายอนุทิน กล่าวว่า "ผมห้อยหลวงพ่อเลี๊ยบ" ตอนที่ตนเข้ามาทำงานในรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งใจเป็นอันดับแรกว่าจะเข้ามาเป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข" ตนตั้งเข็มมา โดยไม่มีทางเลือกอื่นเลย และคนแรกที่ตนติดต่อไปหลังทราบผลการเลือกตั้ง คือ นพ.สุรพงษ์ ซึ่งยอมรับว่า ความตั้งใจแรกของตน ที่ได้เข้ามาดูแลกระทรวงฯ นี้ คือ การพัฒนาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดีขึ้น ให้เข้มแข็ง ให้มั่นคงขึ้น แม้ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานก็อาจเกิดความขัดแย้งบ้าง แต่เป้าหมายของการขัดแย้งไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

"ความตั้งใจแรกที่เข้ามาทำงานในกระทรวงฯ คือ การนำ สปสช. เข้ามาทำงานร่วมกันกับกระทรวงฯ เราต้องใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่มาแก้ปัญหาไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเกิดจุดที่เราเห็นด้วยร่วมกัน ระหว่างรัฐมนตรี ข้าราชการกระทรวงฯ และเจ้าหน้าที่สปสช. ความล้มเหลวก็จะไม่เกิดขึ้น ผมบอกทุกคนว่า วันนี้ใช้งานผมให้มากที่สุด เพราะว่าตอนนี้กระทรวงฯ มีความสำคัญต่อประชาชนมาก ผมเองก็เป็นพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ดังนั้นจะต้องมีความเกรงใจเกิดขึ้นระดับหนึ่งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หรือ หัวหน้ารัฐบาล ในการที่เราจะผลักดันนโยบายต่างๆ ในกระทรวงฯ ที่เราควบคุมอยู่" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย มีหลายคนที่บอกว่า สปสช. เป็นแดนต้องห้าม แต่ตนก็ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ ที่สำคัญอย่างยิ่ง การที่ตนยืนอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี ควบคู่ ประธานบอร์ดสปสช. ดังนั้น สปสช. กับ กระทรวงฯ จะทะเลาะกันไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องแยกบทบาทให้ถูกต้อง และเมื่อทะเลาะกันไม่ได้ สิ่งเดียวที่ต้องทำคือร่วมมือกันทำงาน