ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลปรับหลักสูตรในปีการศึกษา 2564 นักศึกษาแพทย์ศิริราชเรียนแพทย์ 6 ปี และนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงสามารถเลือกเรียนสาขาอื่นในระดับปริญญาโทควบคู่ได้อีก 1 สาขา รวมเป็น 2 ปริญญา แต่ใช้เวลาเท่าเดิม

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษาและการผลิตมหาบัณฑิต เพื่อออกแบบและพัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาอื่นให้กับนักศึกษาแพทย์ที่สนใจและมีศักยภาพสูงได้เรียนควบคู่กับการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ร่วมกับ อ. ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.มหิดล รศ. ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล ผศ. ดร.ธีรพร รับคำอินทร์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและประกันคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล รศ. ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล โดยมี ศ. พญ.สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ รองคณบดีและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช พร้อมด้วยผู้บริหารคณะฯ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 รพ.ศิริราช

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “เนื่องจากความรู้ต่าง ๆ ทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ ด้วย เพื่อการประกอบวิชาชีพในอนาคต ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (technology disruption) ผู้เรียนในยุคดิจิทัลที่แตกต่างจากในอดีตอย่างมาก หลักสูตรใหม่นี้ออกแบบให้เป็น Flexible program คือนักศึกษาสามารถเลือกเรียนรายวิชาต่าง ๆ ทั้งทางการแพทย์ และสาขาอื่นได้อย่างหลากหลายตามความสนใจ และความถนัด นอกจากนั้น เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งในศาสตร์อื่น ๆ ตามที่สนใจ (Pi-Shaped Graduates) นั่นคือ เรียนแพทย์ 6 ปี และเปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์ที่มุ่งมั่นทุ่มเทและมีศักยภาพสูง สามารถเลือกเรียนสาขาอื่นในระดับปริญญาโทตามที่สนใจระหว่างเรียนแพทย์ควบคู่ไปได้อีก 1 สาขา

โดยอาจเรียนจบทั้ง 2 ปริญญาได้ในเวลา 6 ปีเท่าเดิม เราจึงเรียกหลักสูตรใหม่ปี 2564 นี้ว่า “Hybrid Program 61” โดยคณะแพทย์ฯ มีความร่วมมือกับคณะ/วิทยาลัยอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ 1.) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2.) วิทยาลัยการจัดการ 3.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ 4.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ ในการพัฒนารายวิชา/หลักสูตรระดับปริญญาโทร่วมกัน เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ข้ามศาสตร์ในด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังเกิดความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมกันสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่มีคุณค่า ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของประเทศและของโลก สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป”

อ. ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึง การผลิตมหาบัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ว่า “คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจความสามารถและทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประกอบกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยได้ถูกนำมาใช้สนับสนุนพันธกิจทางการแพทย์ในทุกกิจกรรมในองค์กร ตั้งแต่การดูแลรักษาผู้ป่วยจนไปถึงการบริหารจัดการงานต่างๆ ในสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้ และทักษะที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้ หรือทำงานวิจัย รวมทั้งสร้างนวัตกรรมที่ผสมผสานความรู้ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำผลลัพธ์ไปใช้ประโยชน์ และสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์

โดยความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรมหาบัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ หรือ Medical Information Technology นั้น เป็นการพัฒนาหลักสูตร เพื่อตอบสนองกับความต้องการของสถาบันทางการแพทย์ ที่ต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีองค์ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ โดยสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านบริการทางการแพทย์ การวิจัย และสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประชากรโลกต่อไป

รศ. ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ กล่าวถึง การผลิตแพทย์และมหาบัณฑิตสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพว่า “วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในความร่วมมือทางการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งในศาสตร์ด้านการจัดการ และเพื่อเป็นการสนับสนุน และส่งเสริมการจัดการทางด้านการแพทย์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม สาธารณชนและประเทศ ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ด้วยการจัดการที่ทันสมัย สามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืน

สำหรับหลักสูตรการจัดการ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิชาของการจัดการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการตลาด การเงิน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารกลยุทธ์ การบริหารข้อมูลและเทคโนโลยี และวิชาเลือกเฉพาะสาขา อาทิ Healthcare Business Analytics and Data Science/ Innovation and Change Management for Healthcare Business/ Digital Marketing for Healthcare Business/ Logistics and Supply Chain Management for Healthcare Business เป็นต้น หลักสูตรทุกหลักสูตรของวิทยาลัยการจัดการ ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับนานาชาติ จาก AACSB ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีทั่วโลก ที่ CMMU เราเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง รวมทั้งการมีส่วนเข้าไปเรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง”

ผศ. ดร.ธีรพร รับคำอินทร์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและประกันคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึง การร่วมกันผลิตบัณฑิตแพทย์และมหาบัณฑิตสาขาวิศวกรรมศาสตร์ว่า “ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกศาสตร์สาขาวิชา สำหรับด้านการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย รวมทั้งแนวทางการศึกษาในปัจจุบัน บัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านวิศวกรรมศาสตร์ จะมีโอกาสในการเรียนรู้การบูรณาการทางการแพทย์ที่มากขึ้น และมีโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ทางด้านการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ข้ามศาสตร์ด้านวิศวกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย และสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรมด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ มีคุณค่า และทันสมัย ตอบสนองความต้องการของประเทศและประชาคมโลก เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย”

รศ. ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวถึง การผลิตบัณฑิตแพทย์และมหาบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์ว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์จัดการเรียนการสอน การผลิตมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์นานาชาติ มากว่า50ปี ผ่านการรับรองมาตราฐาน AUN-QAและมาตราฐาน Asia Pacific Academic Consortium of Pubic Heath มาโดยตลอด การร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศให้สามารถสร้างสุขภาพ ป้องกัน และรักษาโรคได้อย่างเข้มแข็ง เท่าทันปัญหาการเกิดโรค และเทคโนโลยีการรักษา รวมถึงส่งเสริมป้องกันโรคที่เกิดในปัจจุบัน นอกจากนี้ การร่วมมือกับหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของทวีปออสเตรเลีย และอเมริกา จะทำให้แพทย์ที่จบหลักสูตรนี้ สามารถประกอบอาชีพในระดับภูมิภาค รักษาส่งเสริมสุขภาพแก่ประชากรโลกได้ สมดังปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาในการสร้างประโยชน์ให้สังคมโลก เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และสร้างชื่อเสียงให้วงการแพทย์และลาธารณสุขไทยต่อไบอย่างยั่งยืน