ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ อย.แจงชัด! ไม่เคยปิดกั้นภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด19 แต่อยู่ภายใต้การใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องมีการควบคุม ลงทะเบียนผู้รับวัคซีน ติดตามความปลอดภัย ผลข้างเคียงต่างๆ ล่าสุดมี 14 บริษัทเอกชนติดต่อ อย.ขำนำเข้าแล้ว แต่มีเพียง 4 รายส่งเอกสาร ขณะที่อนุมัติแล้ว 3 ราย ส่วนรายที่ 4 วัคซีนบารัตของอินเดีย ยังรอผลการทดลองในคนระยะ 3

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงความคืบหน้าและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ทางอย. ได้ร่วมประชุมกับกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย รวมถึงบริษัทผู้ผลิตวัคซีน อย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่ออธิบายขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์วัคซีน และการเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้า เพราะเราอยากให้มีวัคซีนที่เข้ามาใช้ในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการขึ้นทะเบียนวัคซีน ประกอบ 2 ส่วน คือ 1.บริษัทที่นำเข้าจะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าก่อน ในรายละเอียดเช่น มีสถานที่เก็บยา มีเภสัชจัดการดูแล 2.การขึ้นทะเบียนวัคซีน ซึ่ง อย.จะดูใน 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ ความปลอดภัย คุณภาพและประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล นอกจากนี้ยังสร้างช่องทางพิเศษที่มีมาตรฐาน เพื่อความรวดเร็วใน 30 วัน นับตั้งแต่วันยื่นเอกสารครบถ้วน

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ภาคเอกชนสามารถนำเข้าได้ เพื่อบริการฉีดให้กับประชาชนได้ แต่อยู่ภายใต้การใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉะนั้น จะต้องมีการควบคุม มีการลงทะเบียนผู้รับวัคซีน ติดตามความปลอดภัย ผลข้างเคียงต่างๆ ทั้งนี้ ยืนยันว่า อย. ไม่เคยปิดกั้นการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมทั้งเชิญชวนให้ภาคเอกชน เช่น โรงพยาบาลเอกชน บริษัทเอกชน นำเข้าวัคซีนเพื่อบริการฉีดให้กับประชาชน ขณะนี้มี 14 บริษัทเอกชนที่เข้ามาติดต่อ อย. เพื่อขอนำเข้าและขึ้นทะเบียนวัคซีน แต่มีเพียง 4 รายที่ส่งเอกสารมา และ อย.ได้อนุมัติไปแล้ว 3 ราย คือ 1.วัคซีนแอสตราเซนเนกา นำเข้าโดยบริษัทแอสตราเซนเนกา (ประเทศไทย) จำกัด 2.วัคซีนโคโรนาแวค โดยบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม(อภ.) และ 3.วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ส่วนรายที่ 4 คือ วัคซีนบารัต ประเทศอินเดีย โดยบริษัทไบโอเจเนเทค ยังรอเอกสารผลการทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 อยู่

"ฉะนั้นอีก 10 ราย เราก็อยากเชิญชวนให้มาส่งเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียน เพราะมีวัคซีนในหลายตัว เช่น วัคซีนโมเดิร์นน่า นำเข้าโดยบริษัทซิลลิค ฟาร์ม่า วัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนสปุตนิกวี มาติดต่อแต่ยังไม่มายื่นขึ้นทะเบียน" นพ.ไพศาลกล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ขณะนี้ความต้องการวัคซีนมีมากกว่ากำลังการผลิต ฉะนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน เพื่อไม่ให้มีคำถามว่า ทำไมเอกชนนำเข้าวัคซีนไม่ได้ เพราะจะเห็นได้ว่าเราได้เชิญชวนและก็มีผู้เข้ามาติดต่อจำนวนมาก เพียงแต่ อย.เองก็รอการนำเอกสาร ผลงานวิจัย การศึกษามาประเมินให้ครบกระบวนการความปลอดภัยและคุณภาพวัคซีน

เมื่อถามว่าการบริการฉีดวัคซีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีประเทศใดฉีดโดยภาคเอกชนหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ข้อมูลปัจจุบันพบว่า ทุกประเทศทั่วโลก ยังเป็นการฉีดภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาล ยังไม่มีการฉีดโดยภาคเอกชน เนื่องจากเป็นการใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน