ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางฯ จุฬาฯ เปิดข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนโควิดทั่วโลก ชี้แอสตราเซเนกา-ซิโนแวค ประสิทธิภาพป้องกันโรค ลดอัตราการเสียชีวิต 100% ไม่แตกต่างจากวัคซีนโมเดอร์นา หรือไฟเซอร์ ยังป้องกันสายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ได้ แต่สายพันธุ์แอฟริกา-บราซิลต้องระวัง ขณะนี้ยังไม่เข้าไทย

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 เม.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวมาตรการเพื่อการลดการแพร่ระบาด ทั้งองค์กร บุคคล สาธารณสุข/เชื้อกลายพันธุ์/ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด​19​ ว่า ขณะนี้มีการพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิดเป็นอย่างไร ว่า มีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพอย่างไร ทั้งนี้ สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด จะแบ่งดังนี้ ในการป้องกันโรคทำให้เกิดอาการน้อยถึงปานกลาง และป้องกันการนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิต จะพบว่า ไม่ว่าวัคซีนที่ใช้ในยุโรป อเมริกา หรือไทย ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือแอสตราเซเนกาก็ป้องกัน 100% แม้อเมริกันจะฉีดของโมเดอร์นา หรือไฟเซอร์ แต่ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันเลย จึงขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ส่วนการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์นั้น ต้องยอมรับว่าไวรัสตัวนี้เป็น อาร์เอ็นเอไวรัส ซึ่งมีการกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของเขา และการกลายพันธุ์ก็จะทำให้ติดง่าย ติดยาก ความรุนแรงของโรคเปลี่ยนหรือไม่ ความคงอยู่เป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ หรือ B 117 นั้น จะพบว่าวัคซีนแอสตราฯ ในการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์หรือไม่กลายพันธุ์ไม่แตกต่างกันเลย ไม่ว่าวัคซีนหลายๆตัวก็ไม่แตกต่างกัน เพราะการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อังกฤษเขากลายพันธุ์ในตำแหน่งส่วนที่จับกับพื้นผิวของเซลล์เรา หรือที่เรียกว่า ACD2 ตำแหน่งนี้เมื่อจับง่าย ไวรัสตัวนี้จึงแพร่พันธุ์ง่าย การเพิ่มจำนวนได้ง่าย ปริมาณไวรัสค่อนข้างเยอะ การกระจายโรคได้เร็ว

“ส่วนสายพันธุ์ที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีน หนีไม่พ้นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิล เพราะ 2 สายพันธุ์นี้พบว่า การเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน เกิดเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่ง 484 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดกับวัคซีนเกาะและจับได้น้อยลง จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ก็ยังป้องกันได้ จะเห็นได้ว่าวัคซีนที่มีการทดสอบใหม่ทดสอบในแอฟริกาใต้ อย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือ โนวาแวค เมื่อทดสอบในแอฟริกาใต้ประสิทธิภาพจะลดลง แต่ก็ยังป้องกันได้ ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ สิ่งที่ต้องระวังคือไม่อยากเห็นสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้ามาในบ้านเรา ทุกคนจึงต้องช่วยกัน โดยขณะนี้ทุกคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งแอฟริกา บราซิล ก็มีการควอรันทีน แม้จะทำเต็มที่แต่ก็ยังมีหลุดสายพันธุ์อังกฤษจนได้ สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่การ์ดตก และเมื่อมีวัคซีนและสามารถเคลียร์สายพันธุ์พื้นบ้าน สายพันธุ์อังกฤษ ต่อไปเราก็จะตรวจสอบได้ว่า มีสายพันธุ์หลุดรอดมาหรือไม่ และจะสามารถกำจัดและทำให้หมดไปได้

“ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 700 ล้านโดส ถามว่าพอหรือยัง แน่นอนว่ายัง เพราะประชากรทั่วโลกมีมากกว่า 7 พันล้านโลก การจะให้ครบจริงๆต้องฉีดให้ได้มากกว่า 1 หมื่นล้านโดส หรือครอบคลุมให้ได้ 5 พันล้านคน ดังนั้น ขณะนี้ทั่วโลกฉีดได้ประมาณ 15 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการฉีด ต้องใช้เวลาถึง 650 วัน หรือ 2 ปีถึงจะฉีดจนถึงเป้าหมาย แต่ขณะนี้มีแนวโน้มทั่วโลกกำลังเร่งการฉีดเพิ่มเป็นวันละ 30 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 325 หรือประมาณ 1 ปีจะถึงเป้าหมาย” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ฉีดมากที่สุดคือ อเมริกาและจีน แต่ประเทศที่ฉีดมากในประชากรหมู่บ้าน หนีไม่พ้นประเทศอิสราเอล โดยใช้วัคซีนไฟเซอร์ โดยเขาฉีดไปมาก จนทำให้อุบัติการณ์การป่วยในประเทศลดลงมาก โดยคนไข้ต่อวันเหลือน้อยมากๆ และอัตราการเสียชีวิตก็ลดลงเหลือไม่ถึงวันละ 10 คนจากที่เคยสูงสุดมากกว่าวันละ 60 คน ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกานั้น ถูกฉีดมากที่สุดที่อังกฤษ โดยเริ่มให้วัคซีนในระยะแรกในปริมาณมาก จนขณะนี้อังกฤษกำลังจะเปิดประเทศแล้ว ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมัน แม้ฉีดวัคซีนหลายตัวก็จริง แต่เมื่อได้ข่าวอาการข้างเคียงของวัคซีนแอสตราฯ จะมีการหยุดๆฉีดๆ แทนที่จะลุยฉีดเต็มที่ ทำให้เห็นได้ชัดว่า ฝรั่งเศสและเยอรมันกำลังเกิดระลอกที่สาม

ดังนั้น ทุกอย่างมีความเสี่ยงหมด การฉีดวัคซีนมีอาการแทรกซ้อนมีได้ แต่โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดต่างๆ เมื่อถามว่า มีการยอมรรับว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่อุบัติการณ์ในการเกิดน้อยมาก และส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อยกว่า 55 ปี เป็นเพศหญิงที่อาจรับประทานยาเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน อังกฤษเขาจึงมองว่า ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมากมาย และการนำวัคซีนมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงจากวัคซีน ดังนั้น ในระดับหมู่มาก หากต้องการควบคุมโรคนี้ให้ได้ และต้องการลดอัตราการเสียชีวิต ลดการนอนในรพ. เพราะการไปอยู่รพ.มาก จะกระทบกับผู้ป่วยปกติ สรุปคือ วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน แม้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์ย่อมมากกว่าความเสี่ยงมากมาย และเราต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด