ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โควิดทั่วโลกพุ่งสูง ขณะที่ไทยติดเชื้อรายใหม่วันนี้ถึง 1,335 ราย เหตุเชื้อสายพันธุ์อังกฤษแพร่เร็ว พบเชื่อมโยงสถานบันเทิงผับบาร์ คนวัยทำงาน นักศึกษานำเชื้อกลับภูมิลำเนา กลับครอบครัว นำแพร่เชื้อพ่อแม่ผู้สูงอายุ เตือนขอให้เข้มมาตรการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะคนเที่ยวสวมใส่หน้ากากอนามัย ลดกิจกรรม สังเกตอาการ หลังสงกรานต์ขอ Work from Home อย่างน้อย 2 สัปดาห์

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 14 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด19 ว่า ขณะนี้การระบาดทั่วโลกอยู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอินเดีย พบติดเชื้อวันเดียวสูงขึ้นถึง 185,248 ราย ตอนนี้เป็นอันดับหนึ่ง บราซิล สหรัฐอเมริกาเริ่มระบาดมากขึ้นเห็นชัดเจน โดยผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมถึง 138,013,074 ราย ซึ่งรอบวันที่ผ่านมาสูงถึง 735,486 ราย แล เสียชีวิตสะสม 2,971,864 ราย  สำหรับประเทศไทยตัวเลขติดเชื้อสูงถึง 1,335 รายเป็นครั้งแรก ขณะที่เพื่อนบ้านไทย อย่างกัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งญี่ปุ่น ตัวเลขไม่ลดลง ดังนั้น สถานการณ์ยังน่ากังวล โดยทั่วโลกตัวเลขพุ่งขึ้นตลอด

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทย 1,335 ราย มาจากในประเทศด้วยระบบบริการ 789 ราย จากในประเทศด้วยการค้นหาเชิงรุก 537 ราย และจากต่างประเทศ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ซึ่งการระบาดรอบนี้รุนแรง เพราะเชื้อเปลี่ยนไป เนื่องจากเป็นสายพันธุ์อังกฤษ B 1.1.7. ซึ่งเป็นสายพันธุ์ระบาดค่อนข้างเร็ว แต่เทียบกับความรุนแรงไม่ได้มากกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการประมาณ 90% แต่ความสำคัญคือ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

“ขณะนี้ตัวเลขพุ่งขึ้น ความร่วมมือร่วมใจกันจึงจะช่วยกัน ซึ่งเรามีมาตรการปิดจุดเสี่ยง สถานบันเทิงตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. และขณะนี้ท่านนายกรัฐมนตรีมีการสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการ Work from Home เต็มรูปแบบหลังสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. และขอความร่วมมือภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยในเรื่องการควบคุมโรคได้” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับแผนที่จังหวัดการพบผู้ติดเชื้อนั้น ข้อมูล ณ วันที่ 14 เม.ย. พบติดเชื้อ 54 จังหวัด โดยสิ่งที่เห็นชัด คือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯและ ปริมณฑล และภาคตะวันออกหลายจังหวัด ทั้งชลบุรี ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ แนวโน้มการระบาดยังค่อนข้างเร็ว แม้หลายจังหวัดจะควบคุมได้ดี นอกจากนี้ หากแบ่งตามระดับสี โดยเฉพาะสีแดงเข้ม คือ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก มากกว่า 100 รายขึ้นไป ขณะนี้มี 9 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี และสระแก้ว โดยจังหวัดเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนที่ของคน ไม่ว่าคนเข้าคนออก มาตรการควบคุมจุดเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าสถานบันเทิง หรือการจัดปาร์ตี้ระหว่างบุคคล ต้องเข้มงวดทั้งจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และบุคคลเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งนี้ข้อมูลถึงวันที่ 13 เม.ย. ส่วนใหญ่เกิดจากนักเที่ยวในสถานบันเทิงกลับไปบ้านไปติดคนในครอบครัว จากนั้นกระจายไปเพื่อนฝูง ไปที่ทำงาน ไปชุมชน เพราะฉะนั้นหากเราตัดวงจรการเคลื่อนที่ของคน ตัดจุดเสี่ยง ลดพฤติกรรมเสี่ยงก็จะลดการแพร่โรคได้

ส่วนจังหวัดอื่นๆที่ตัวเลขติดเชื้อไม่มาก อย่างจังหวัดสีเหลือง เช่น ยโสธร มีจำนวน 6 รายพบว่า ครึ่งหนึ่งมาจากการติดเชื้อเชื่อมโยงสถานบันเทิง อีกครึ่งหนึ่งมาจากผู้สัมผัสร่วมบ้าน ดังนั้น หากแต่ละจังหวัดมีมาตรการดำเนินการได้ ก็จะควบคุมสถานการณ์ในจังหวัดได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่การดำเนินงานคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวด ซึ่งท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นหัวหอกสำคัญในการควบคุมโรค ส่วนจังหวัดสีเขียว เป็นจังหวัดที่ผู้ป่วยไม่มาก แต่ประมาทไม่ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ติดเชื้อรายวัน วันนี้(14 เม.ย.) กรุงเทพฯ ยังสูงขึ้นพบ 351 ราย เชียงใหม่พบ 319 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 161 ราย เป็นต้น ภาพรวมแนวโน้มการระบาดยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยภาพรวมการระบาดรอบนี้ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง มาจากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก นอกจากนี้ ประเด็นการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ยังเป็นปัจจัยทำเชื้อกระจายด้วย อย่างตัวอย่างการจัดกิจกรรมร่วมกัน โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยไปออกค่ายอาสาภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จ.ตากและแม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 8-10 เม.ย.64 โดยมีนักศึกษา 1 คนติดเชื้อ และเกิดผู้สัมผัสตามมาอีก 40 คน จึงต้องระมัดระวัง เป็นไปได้ขอให้งดเว้นไปก่อน

ส่วนผลการศึกษาจำนวนผู้ป่วยรายวัน ระยะ 1 เดือนข้างหน้า มีการคาดการณ์ทางวิชาการและระบาดวิทยาว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ ในทางทฤษฎีตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งถึง 9,140 ราย แต่เมื่อเรามีมาตรการปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยงตัวเลขจึงอยู่ที่ 2,996 ราย ซึ่งตัวเลขขณะนี้ก็ใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล ซึ่งจะลดตัวเลขผู้ป่วยเหลือ 934 ราย แต่ในมุมสาธารณสุขก็ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการ เพราะการมีผู้ติดเชื้อระดับหลายร้อยคนจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างได้ จึงต้องเพิ่มมาตรการลดกิจกรรมการรวมตัว ทั้งกิจกรรมสาธารณะ หรือกิจกรรมในครอบครัว อย่างปาร์ตี้ส่วนบุคคลอยู่ในครอบครัว แต่มารวมตัวกันจากหลายๆที่ก็ทำให้ติดเชื้อ แต่เมื่อเรามีมาตรการนี้จะทำให้ผู้ป่วยลดเหลือ 593 ราย ซึ่งภาพรวมก็ยังไม่พอ จึงต้องเพิ่มมาตรการ เช่น การทำงานที่บ้าน WFH ก็จะลดตัวเลขติดเชื้อเหลือ 391 ราย โดยการคาดการณ์ตรงนี้จะมีเสนอและปรับเพิ่มมาตรการต่างๆ ต่อไป

“การระบาดของโรคโควิด19 ระลอกนี้เดือน เม.ย. กระจายค่อนข้างเร็ว เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ กลุ่มเสี่ยง อยู่ในวัยทำงาน กลุ่มนักศึกษาที่กลับภูมิลำเนา ซึ่งเริ่มมีสัญญาณพบการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นท่านที่เคยไปสถานบันเทิง เป็นนักศึกษาไปออกค่าย และไปพบญาติพี่น้อง หรืออยู่ในครอบครัว ขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพราะส่วนใหญ่ที่เราพบ ผู้สูงอายุไม่ได้ไปงานปาร์ตี้แต่ติดเชื้อจากคนในบ้าน และกลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อแล้วรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิตได้” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ช่วงหลังสงกรานต์ ท่านรองนายกฯ และปลัดสธ.ขอให้เน้นการตรวจคัดกรอง ควบคุม ติดตาม กำกับ การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคน และผู้ติดเชื้อแล้วต้องได้รับการรักษาในรพ.ทั้งรัฐ และเอกชน รวมทั้งรพ.สนาม และฮอสพิเทล เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย แม้อาการไม่มากในส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายส่วนอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ปอดบวมและอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ และหากไม่อยู่รพ. ก็มีโอกาสแพร่เชื้อในครอบครัว หรือในชุมชน จึงขอให้พี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมใจกันในการป้องกันตัวเอง การเดินทางขอให้จำเป็นเท่านั้น และหลังสงกรานต์ขอให้ทำงานที่บ้าน Work from Home ในจังหวัดนั้นๆ โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในจังหวัดเสี่ยง อย่างน้อย 2 สัปดาห์