ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์โควิด19 พบเกิน 1 พันรายติดต่อ 3 วัน ล่าสุดรายใหม่รอบ 24 ชั่วโมงวันนี้(16 เม.ย.) ติดเชื้อสูงถึง 1,582 ราย ย้ำตัวเลขติดเชื้อช่วงนี้พบมาก เหตุระยะฟักตัวมาจากก่อนหน้านี้ 5-7 วัน ช่วงก่อนสงกรานต์ ขณะที่ทั่วโลกยังไม่หยุด! อินเดียสูงสุดพบปัจจัยไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากอนามัย กิจกรรมคนหมู่มาก

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 16 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่รอบวันอยู่ที่ 1,582 ราย ซึ่งสูงกว่าเมื่อวาน 

สำหรับการติดเชื้อรายใหม่ของไทยระลอกใหม่เดือน เม.ย. ในรอบ 24 ชั่วโมงพบติดเชื้อ 1,582 ราย มาจากต่างประเทศเพียง 5 รายเท่านั้น ที่เหลือในประเทศไทย โดยจากการวินิจฉัยในรพ. หรือในระบบบริการ 921 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 656 ราย โดยกำลังรักษาอยู่ 10,461 ราย อยู่ในรพ. 9,884 ราย อยู่ในรพ.สนามและอื่นๆ 577 ราย อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 16 ราย อยู่กทม. 8 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นอกนั้นขอนแก่น ระยอง ตาก นครปฐม เชียงใหม่ อย่างละ 1 ราย ทั้งนี้ รักษาหายป่วยแล้ว 1,054 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ในระลอกนี้ยังพบผู้เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็น 0.03% 

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันรวม 39,038 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศรายสัปดาห์ ข้อมูลวันที่ 1 -16 เม.ย.67 พบติดเชื้อ 77 จังหวัดครบทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว

“จากข้อมูล 14 วันที่ผ่านมา(3-16 เม.ย.64) จำนวนผู้ติดเชื้อไต่ระดับขึ้น โดยเกิน 1 พันรายเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเริ่มมาตรการปิดสถานบันเทิงก่อนสงกรานต์ประมาณวันที่ 10 เม.ย. แต่โดยธรรมศาสตร์ของโรคมีระยะฟักตัว 5-7 วัน ดังนั้น การเห็นผู้ป่วยเพิ่มขึ้นขณะนี้เป็นเพราะติดเชื้อมาก่อนหน้านี้เฉลี่ย 5-7 วัน เหมือนกันเวลาดำเนินมาตรการก็จะดูระยะฟักตัวผ่านไป และจะเห็นชัดเจนประมาณ 2 สัปดาห์ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ กรุงเทพมหานครยังสูงสุด โดยวันนี้พบถึง 312 ราย รองลงมาเชียงใหม่พบ 272 ราย ชลบุรี 111 ราย ประจวบคีรีขันธ์พบ 100 ราย ซึ่งลักษณะการติดเชื้อก็จะพบเชื่อมโยงจากสถานบันเทิงส่วนหนึ่ง หรือผู้สัมผัสจากผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ลำปางก็พบสูง 95 ราย ที่ไม่มีรายงานวันนี้ คือ มหาสารคาม อย่างไรก็ตาม 2 วันก่อนหน้านี้เราไม่พบรายงานการติดเชื้อที่จ.ระนอง และจ.สตูล แต่มาวันนี้พบติดเชื้อ โดยจ.ระนอง พบติดเชื้อ 2 ราย เกิดจากครอบครัวเดียวกัน พ่อลูกเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง กทม. ส่วนจ.สตูล เป็นหญิงญี่ปุ่นมาเที่ยวไทย ตรวจพบการติดเชื้อ 1 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดข้อมูลย้อนหลัง 15 วันเดือน เม.ย. พบ 13 จังหวัดติดเชื้อสูงกว่า 100 ราย)

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงสถานการณ์โควิด19ทั่วโลก ว่า ทั่วโลกมีการติดเชื้อสะสม 139,623,508 ราย โดยรายวันติดเชื้อถึง 794,984 ราย เสียชีวิตสะสม 2,997,711 ราย โดยรายวันเสียชีวิต 12,717 ราย คิดเป็น 2.1% สำหรับผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด คือ อินเดียติดเชื้อรายวัน 216,850 ราย รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 69,740 ราย บราซิล 69,117 ราย และตูรกี 61,400 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากที่สุด คือ บราซิล รองลงมา อินเดีย และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม แนวโน้มช่วงนี้อินเดีย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์การระบาดอย่างในสหรัฐอเมริกา เคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมากช่วง ม.ค. และลดต่ำลง และค่อนข้างคงตัวในเดือนที่ผ่านมา

ส่วนอินเดียเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ฝรั่งเศสมีผู้ป่วยสูงสุด ก.ย.-ต.ค.2563 และลดต่ำลงก่อนปีใหม่ และเพิ่มจำนวนอีก ส่วนอังกฤษยอดติดเชื้อสูงสุดคือ ม.ค.2564 แต่ลดลงมาเรื่อยๆ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาจากมาตรการการฉีดวัคซีนในอังกฤษที่ทำต่อเนื่อง แต่ฝรั่งเศส หรือประเทศยุโรป อาจไม่มั่นใจและหยุดการฉีดไปช่วงหนึ่ง

“ในประเทศอินเดียนั้นเราจะพบว่าผู้เสียชีวิตเคยสูงสุดเดือน ส.ค.2563 และลดต่ำลง แต่ปรากฏว่าเดือน มี.ค.-เม.ย.กลับสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของอินเดียพบปัจจัยที่เอื้อ คือ ประการแรกมาจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งมีทั้งสายพันธุ์อังกฤษ และยังพบการรวมกันของไวรัสสองสายพันธุ์อีก ประกอบกับสังคมอินเดียมีประชากรจำนวนมาก มีพื้นที่ที่ประชากรอยู่หนาแน่น และยังมีการประกอบพิธีอาบน้ำในแม่น้ำคงคง ในช่วงเทศกาลกุมภเมลา ซึ่งประชาชนร่วมพิธีจำนวนมาก โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาวัคซีนโควิด19 ขาดแคลน ทำให้อินเดียมีมาตรการในการควบคุมการส่งออกวัคซีน และเน้นการใช้ในประเทศให้เพียงพอ” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ส่วนประเทศในทวีปเอเชีย อย่างประเทศเพื่อนบ้าน อินโดนีเซียติดเชื้อใหม่ 6,117ราย มาเลเซีย 2,148 ราย ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับ 111 ซึ่งก่อนเม.ย. ไทยอยู่ที่ 115 -116 แต่ช่วงมี.ค.-เม.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อเราพุ่งรวดเร็ว