ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เตรียมระบบประเมินความเสี่ยง “ทีอาจ” (Triage) คัดแยกระบุผู้ติดเชื้อมีอาการหรือไม่ แบ่งเป็น 3 สถานะ “เขียว-เหลือง-แดง” ขณะที่ข้อมูลวันที่ 1-18 เม.ย. พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 146 ราย ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ พบ 33 รายติดเชื้อจากการทำงาน การสัมผัสผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผยไทม์ไลน์

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ มีการบูรณาการห้องปฏิบัติการ(แล็บ) และเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบโคแล็บ(Co-Lap) ซึ่งไม่ว่าเป็นการตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาล(รพ.) ใดก็ตามทั้งของภาครัฐและเอกชน ข้อมูลจะนำมารวมในจุดเดียวที่กรมการแพทย์ และจะมีการรายงานอย่างทันท่วงที

นอกจากนั้น ยังมีระบบโควอด(Co-Ward) อัพเดทสถานะเตียงว่างทั้งของโรงพยาบาลเอกชน สังกัดกรุงเทพมหานคร สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เตียงในกองทัพ เพื่อบริหารเตียง รองรับการรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้อง

"ทั้งนี้ผู้ที่ติดเชื้อและได้รับการรักษาในระบบแล้วจะมีการประเมินความเสี่ยงเรียกว่า ทีอาช(Triage) เป็นการคัดแยกเพื่อระบุว่าผู้ติดเชื้อมีอาการหรือไม่ สถานะสีเขียว คือ ผู้ที่แข็งแรงดียังไม่มีอาการ สถานะสีเหลือง คือ เริ่มมีอาการ มีภาวะเหนื่อยหอบ หรือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่เป็นความเสี่ยง และสถานะสีแดง คือ ผู้มีอาการรุนแรง หรือผู้ที่ออกกำลังใน 6 นาทีตามมาตรฐานสาธารณสุข เช่น ปั่นจักรยานท่านอน แล้วมีอาการเหนื่อย ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล" พญ.อภิสมัย กล่าว และว่า  ทางสธ. เน้นว่าจะต้องไม่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการรอเตียง อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังต้องมีการจัดสรรทรัพยากรบุคลากร โดยขณะนี้หลายโรงพยาบาลปิดบริการแผนกอื่น เพื่อระดมสรรพกำลังไปช่วยการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในการระบาดรอบนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อด้วย ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 1-18 เม.ย. รายงานบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 146 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์พยาบาล ซึ่งทำให้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ รวมถึงการแยกกัก ก็ทำให้เสียจำนวนบุคลากรไปเช่นกัน และสิ่งสำคัญคือมี 33 รายจาก 146 ราย การติดเชื้อจากการทำงาน การสัมผัสผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผยไทม์ไลน์ นอกจากนั้นเป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว

"ขณะนี้เรารายงานผู้ติดเชื้อตัวเลขกลมๆ วันละ 1 พันราย เพียง 10 วันจากนี้เราอาจจะมีหมื่น ซึ่งท่านต้องตอบคำถามว่าเตียงจะเพียงพอหรือไม่ จะต้องมีห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจ จะต้องจัดเตรียมอย่างไร รวมไปถึงเวลาที่ต้องใช้รักษาทรัพยากรต่างๆ ซึ่งเหล่านี้มีการเตรียมการล่วงหน้าแล้ว แต่หากขาดความร่วมมือจากประชาชนและสถานประกอบการ ระบบสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้าที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่ไหวเช่นกัน จึงขอความร่วมมือประชาชน" พญ.อภิสมัยกล่าว

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อ จำนวน 146 คน กระจายไป 35 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีจำนวนติดเชื้อสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร 38 คน สุพรรณบุรี 11 คน ชลบุรี และราชบุรี จังหวัดละ 8 คน ,สมุทรปราการ อุดรธานี นครปฐม นราธิวาส จังหวัดละ 7 คน , ปทุมธานี ขอนแก่น จังหวัดละ 6 คน , นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 5 คน , สขลา 3 คน , นนทบุรีและนครพนม จังหวัดละ 2 คน เป็นต้น