ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,470 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด รักษาหายเพิ่ม 477 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 48,113 ราย

 

วันที่ 22 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,470 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด รักษาหายเพิ่ม 477 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 48,113 ราย หายป่วยแล้ว 29,848 ราย กำลังรักษา 18,148 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน รพ. 14,555 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 3,593 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 117 ราย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.24% ส่วนระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. มีผู้ติดเชื้อสะสม 19,250 ราย เสียชีวิต 23 ราย

 

ผู้เสียชีวิต 7 รายใหม่ ได้แก่ 1.หญิงไทยอายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย จ.พัทลุง มีโรคประจำตัวโรคอ้วน มีประวัติวันที่ 7 เม.ย.ไปสถานบันเทิง มีผู้ติดเชื้อโควิด วันที่ 16 เม.ย. ตรวจหาเชื้อ มีไข้ ไอ เจ็บคอ วันที่ 17 เม.ย. พบเชื้อ ปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย วันที่ 19 เม.ย. ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิต วันที่ 20 เม.ย. ในระยะเวลาไม่กี่วันหลังพบเชื้อ

 

2.หญิงไทยอายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก จ.สระบุรี มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ วันที่ 5 เม.ย.ไปสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 12 เม.ย. เริ่มมีไข้ ไอ  วันที่ 19 เม.ย. เข้ารับการรักษาใน รพ. หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลพบเชื้อและเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย. 

 

3.ชายไทยอายุ 83 ปี อยู่ กทม. มีความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง วันที่ 17 มี.ค. มีไข้สูง ไอแห้ง น้ำมูก อ้อนเพลีย วันที่ 22 มี.ค. ไปรักษาคลินิกเอกชน วันที่ 23 มี.ค.รับการตรวจเชิงรุกหน่วยรถพระราชทาน วันที่ 24 มี.ค.ผลพบเชื้อ วันที่ 25 มี.ค. เข้า รพ. วันที่ 31 มี.ค. หอบเหนื่อยมากขึ้น อาการทรุดลง และรับการรักษาใน รพ. เสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.  

 

4.หญิงไทยอายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง จ.นครปฐม โรคประจำตัวเบาหวาน ประวัติวันที่ 13-15 เม.ย. ญาติเดินทางจาก กทม.มาเยี่ยม วันที่ 16 เม.ย. มีอาการอาเจียนเป้นเลือด ญาตินำส่ง รพ. ผลพบเชื้อโควิด ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 17 เม.ย. 

5.ชายไทยอายุ 45 ปี พนักงานขับรถ อยู่ กทม. โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 9 เม.ย. มีอาการไข้ไอเหนื่อย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 17 เม.ย. มีไข้สูง 40.2 องศา ไอ มีเสมหะ หนาวสั่น กินได้น้อยลง มาตรวจ รพ.รับยากลับบ้าน วันที่ 19 เม.ย. เข้ารับการรักษาใน รพ. มีหายใจหอบ เหนื่อย ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.

6.ชายไทยอายุ 59 ปี พนักงานรัฐวิสาหกิจ กทม. โรคประจำตัวเบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 14 เม.ย.มีไอ วันที่ 20 เม.ย. เข้ารับการรักษาใน รพ. ด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลพบเชื้อ เสียชีวิตวันเดียว 20 เม.ย.

 

7.ชายไทยอายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง กทม. โรคหัวใจ วันที่ 5 เม.ย. มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 16 เม.ย.ผลตรวจพบเชื้อ มีไอแห้ง อ่อนเพลีย วันที่ 18 เม.ย. เข้ารักษาใน รพ. วันที่ 20 เม.ย. มีหอบเหนื่อย ไข้สูง ออกซิเจนในเลือดต่ำลง ต่อมาอาการแย่ลง เสียชีวิตวันที่ 21 เม.ย. 

 

"ขอแสดงความเสียใจกับญาติทั้ง 7ท่าน ขอให้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น แต่เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตในระลอกนี้ 23 คน คิดเป็น 0.12% สำหรับแนวโน้มผู้ติดเชื้อยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องไม่ประมาทการ์ดอย่าตก ตัวเลขยังขึ้นอยู่ มากกว่าพันทุกวัน โดย กทม.ตัวเลขยังแดงอยู่ จาก 350 ราย เป็น 365 ราย วันนี้เป็น 446 ราย ตัวเลขสะสม 4,775 ราย รองลงมาคือเชียงใหม่ จากเดิมร้อยมาตลอดหลายวัน เหลือ 99 ราย แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ สะสม 2,597 ราย ชลบุรีรายเพิ่มขึ้น 97 ราย นนทบุรี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 69 ราย เพิ่มเป็น 118 ราย เป็นต้น สถานการณ์รายวันแม้จังหวัดดูเป็นสีเขียวมากขึ้น คือ มีติดเชื้อ 1-10 ราย แต่ยังไม่ถือว่าดีขึ้น ถือว่ายังทรงอยู่" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า  ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 144.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 8.8 แสนราย เสียชีวิตสะสม 3.07 ล้านราย เพิ่มขึ้น 14,088 ราย การติดเชื้อรายวันเยอะสุดคืออินเดีย อยู่ที่ 315,802 ราย ส่วนไทยขยับขึ้นอันดับ 105 ของโลก