ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงพื้นที่ตรวจห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจโควิด19 ย้ำขอปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อตรวจพบเชื้อแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง พร้อมส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อเข้าระบบ ช่วยมีข้อมูลแก้ปัญหาผู้ป่วยรอเตียง

วันที่ 23 เม.ย. ที่ PCT laboratory service ซอยจรัญสนิทวงศ์ 67 เขตบางพลัด กทม. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมาตรฐานห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจเชื้อโควิด 19 (SARS-Cov-2) โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาร่วมสร้างความเข้าใจกับคลินิกแล็บเอกชนด้วย

นายสาธิต กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโควิดใน กทม.หนักจริง กำลังเข้าขั้นวิกฤตในแง่ตัวเลขที่สูงขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ก็ติดเชื้อเองจำนวนมาก ตอนนี้ สธ.ต้องการข้อมูลเพื่อบริหารจัดการอย่างแม่นยำ อย่างเรื่องการบริหารจัดการเตียงผู้ติดเชื้อโควิด 19 คลินิกแล็บเอกชนที่ตรวจโควิดก็เป็นจิกซอว์หนึ่งที่ช่วยมาแบ่งเบาสถานการณ์ และนำไปสู่การจัดการเตียงทั้งหมดได้ ซึ่งต้องขอว่าให้ช่วยปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ตรวจพบเชื้อรายงานไปที่กรมควบคุมโรค ส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อตามแบบฟอร์ม เช่น ชื่อ ที่อยู่ ผลบวก อาการเป็นอย่างไร เพื่อที่กรมควบคุมโรคจะได้นำข้อมูลเข้าสุ่โคแล็บ จะได้อัปเดตอย่างเรียลไทม์ เพราะต้องบริหารข้อมูลที่เที่ยงตรงทันเวลา ก็ขอให้ความร่วมมือรายงานข้อมูลด้วย เพื่อจะได้มีข้อมูลไปบริหารจัดการเตียงหรือควบคุมโรค

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สบส.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกันจัดทีมตรวจประเมินและให้คำแนะนำแก่คลินิกแล็บตรวจโควิด 19 ซึ่งวันนี้มีการลงพื้นที่ตรวจแล้ว 4 แห่ง ทั้งนี้ ย้ำว่าต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่ สบส.ออกประกาศ คือ เมื่อตรวจพบเชื้อแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง แจ้งผู้ติดเชื้อให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันแพร่โรค และประสานส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาตามระบบที่วางไว้ เช่น ส่งไปยัง รพ.คู่สัญญา ซึ่งอาจเป็น รพ.รัฐ เอกชนหรือ รพ.สนมก็ได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ติดเชื้อจะมีสถานพยาบาลรองรับ หากเตียงเต็มก็ประสานสายด่วน 1668 1669 หรือ 1330 หรือช่องทางสบายดีบอต เพื่อเข้าสู่ระบบการจัดหาเตียงต่อไปตามกลุ่มอาการเขียวเหลืองแดง ผู้ป่วยก็จะไม่เคว้งคว้าง โดยสัปดาห์หน้าจะตรวจให้ครบทุกแห่งใน กทม. สำหรับคลินิกแล็บเอกชนมี 6 แห่งที่ปล่อยให้ผู้ป่วยเคว้ง ได้ตักเตือนและแนะนำในดำเนินให้ได้มาตรฐาน

"สำหรับ PCT ถือว่าทำได้ตามมาตรฐาน ตรวจประชาชนที่วอล์กอินเข้ามาวันละ 200-300 ราย หากรวมรับตัวอย่างเชื้อจากเครือข่าย รพ.มาตรวจก็ประมาณวันละ 1,500 ราย รวมช่วง 15 วันที่ผ่านมา ตรวจ 3,432 ราย เจอบวก 130 ราย คิดเป็น 3.8% จัดหาเตียงให้ผู้ป่วยได้ เหลืออยู่ประมาณ 53 รายที่ไม่มีเตียง ก็ประสานลงทะเบียนในไลน์สบายดีบอต 40 ราย เหลืออีก 13 รายกำลังดำเนินการลงทะเบียน และมีการรายงานข้อมูลเข้ามาในโคแล็บตามที่แนะนำด้วย" นพ.ธเรศกล่าว

ด้าน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้แล็บตรวจโคิวดที่ผ่านรับรองจากกรมวิทย์มี 280 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. โดยเป็นของเอกชนมากกว่ารัฐ แม้จะได้รับการรับรองแล้ว แต่กรมฯ จะทดสอบความชำนาญเป็นระยะ เพื่อให้การรับรองต่อไป จึงต้องมีการออกมาสุ่มตรวจคลินิกแล็บต่างๆ ทั้งนี้ ขอให้คนที่มีความเสี่ยงหรือจำเป็นตรวจหาเชื้อ ตรวจสอบก่อนว่าคลินิกที่จะไปตรวจอยู่ในการรับรองหรือไม่ สำหรับอุปกรณ์ชุดตรวจและน้ำยาตรวจหาเชื้อ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสต๊อกของแล็บทั้ง 280 แห่งทุกสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้แม้จะมีการตรวจหาเชื้อเยอะขึ้น ประมาณ 5-6 หมื่นรายต่อวัน แต่ยืนยันว่ายังมีเพียงพอ และยังมีสำรองส่วนกลางไว้ที่กรมด้วย

"ส่วนกรณีการแชร์ข้อมูลถึงกล่องวัคซีนซิโนแวคที่มีการขีดคร่าวันหมดอายุข้างกล่อง วัคซีนล็อตดังกล่าวบริษัทผู้ผลิตระบุวันหมดอายุการใช้งาน 3 ปี แต่เมื่อมาขึ้นทะเบียนกับ อย.จะมีการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ผลิต และก่อนนำฉีดต้องตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัย ไม่นำวัคซีนหมดอายุมาฉีดแน่นอน และแม้จะกำหนดอายุ 6 เดือน ก็เชื่อว่าระดมฉีดก่อนที่จะหมดอายุแน่นอน" นพ.ศุภกิจกล่าว