ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับแนวทางจ่ายเงินชดเชยค่าบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด19  ให้รพ.  จากเดิมเบิกจ่ายชดเชยทุก 1 เดือน เป็นทุกๆ 15 วันหรือเดือนละ 2 ครั้ง  ช่วย รพ.บริหารจัดการการเงิน ไม่ต้องกังวลการรอเบิกเดือนละครั้งอีก  

วันที่ 24 เม.ย. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 2,839 ราย เป็นตัวเลขสูงที่สุดครั้งแรกของระลอกใหม่ และที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 50,022 ราย ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 17,924 ราย และโรงพยาบาลสนาม 4,403 ราย
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้ป่วย และด้วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้ยา อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ต่างๆ ทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลในช่วงเวลานี้เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลต่อสภาพคล่องของโรงพยาบาลในระหว่างรอเบิกค่าใช้จ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ ได้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.ในฐานะที่มีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) และได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรงเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการในการรักษาพยาบาลประชาชนกรณีโควิด-19 นี้ ได้ตระหนักถึงโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สปสช.จึงได้ปรับปรุงแนวทางการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกรณีโควิด-19 แก่หน่วยบริการให้มีความรวดเร็วขึ้น จากเดิมเบิกจ่ายชดเชยทุก 1 เดือน ให้เป็นการเบิกจ่ายทุกๆ 15 วันหรือเดือนละ 2 ครั้งแทน ทำให้โรงพยาบาลที่ดูแลสามารถนำไปหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยไม่กระทบการบริหารจัดการในส่วนอื่นๆ ของโรงพยาบาล หลังจากที่ได้ปรับรอบการจ่ายเงินชดเชยค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่หน่วยบริการให้เร็วขึ้นจากทุกๆ 1 เดือนเป็นทุกๆ 15 วันมาแล้ว

“ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ได้เน้นย้ำว่า สถานการณ์นี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน อะไรที่มีผลกระทบ มองแล้วเป็นปัญหา หากดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงได้ก็ให้รีบทำ ซึ่งการปรับรอบการเบิกจ่ายค่าบริการในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดภาระการแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังทำให้เกิดการดูแลและรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ โดยที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวลเรื่องความเพียงพอของเงินหมุนเวียนโรงพยาบาลที่ต้องรอเบิกเดือนละ 1 ครั้ง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

สำหรับสถิติการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการที่เกี่ยวกับโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณที่ผ่านมา จนถึงเดือน มี.ค. 2564 มีจำนวนการเข้ารับบริการ 781,625 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 1,862,074,025 บาท บริการการรักษาโรค 31,488 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 1,499,523,760 บาท

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง