ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ศิริราช ให้ความรู้ปฏิกิริยาหลังรับวัคซีน ISRR ไม่ใช่แค่ไทย เผยผลการศึกษาบราซิล พบเช่นกัน สิ่งสำคัญต้องสังเกตอาการหลังรับวัคซีน ล่าสุดมีคำแนะนำข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากร ย้ำวัคซีนโควิดซิโนแวคประโยชน์มี เพิ่มภูมิต้านทานได้ อย่ากังวล

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต คณะแพทศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงประเด็นวัคซีนโควิด 19 ว่า ปัจจุบันเราทราบว่ากระบวนการติดเชื้อจะใช้เวลาส่วนใหญ่ 14 วัน ซึ่งโดยปกติร่างกายมีวิธีการกำจัดไวรัสภายในตัวเอง เช่น ผ่านสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไวรัสเข้าเซลล์ ซึ่งหากเป็นไวรัสที่เรารู้จักอยู่แล้วก็ย่อมทำได้ แต่โควิด เป็นไวรัสใหม่จึงไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธี คือ เมื่อไวรัสเข้ามาในร่างกายจะมีการกระตุ้นแอนติบอดีขึ้นมา ซึ่งหากเป็นไวรัสที่เรารู้จัก อย่างโรคหวัด เชื้อหัด หากเราเคยติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีนก็จะมีภูมิต้านทานที่เป็นแอนติบอดีมาช่วย หรือกรณีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่ทำลายไวรัสได้ แต่ทั้งหมดต้องรู้จักไวรัสก่อน

“เพราะฉะนั้น กระบวนการที่เราจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน คือ การติดเชื้อทางธรรมชาติ เพื่อให้เมื่อป่วยหรือติดเชื้อแล้วจะได้มีภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ แต่ปัญหาของโควิดที่เรามีข้อมูลคือ กรณีคนที่ติดเชื้อไปแล้ว โดนไวรัสไปแล้วกลับกระตุ้นภูมิต้านทานได้ไม่ดี สามารถติดเชื้อรอบสองได้อีก ดังนั้น การติดเชื้อกระตุ้นภูมิฯ จึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง และคนที่ติดเชื้อส่วนหนึ่งทางธรรมชาติกลับไม่มีภูมิต้านทานพอเพียงในการป้องกันติดเชื้อครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ฉะนั้น วัคซีน จึงเป็นกระบวนการที่จะทำให้เรามีภูมิต้านทานได้” ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าว

ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวอีกว่า ขณะนี้วัคซีนโควิดที่ได้ยินกันมาก มี 3 กลุ่ม คือ วัคซีนชนิดเชื้อตาย อย่างซิโนแวค วัคซีนชนิด Viral vecto vaccine อย่างแอสตราเซเนกา และวัคซีนชนิด RNA อย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา และสปุตนิก สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากการรับวัคซีนนั้น เราต้องพิจารณาประโยชน์กับความเสี่ยงทุกครั้ง แน่นอนว่า ความเสี่ยงย่อมมี ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกเป็นอาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้วัคซีน ซึ่งอาการแพ้วัคซีนจะคล้ายคนแพ้อาการ แพ้อาหาร ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อาจเกิดจากตัววัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน หรือเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายผู้รับวัคซีน ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“อาการไม่พึงประสงค์ แบ่งออกเป็นเฉพาะที่ และเป็นระบบ บางคนมีไข้ต่ำๆ มีอาการอ่อนเพลีย ง่วง เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้ แต่ปฏิกิริยาที่เป็นข่าวและทำให้หลายๆท่านกังวลใจ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกว่า Immunization Stress Related Response หรือ ISRR ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน คนบางคนเมื่อมีความเครียดในการฉีดวัคซีน ก็จะกระตุ้นระบบภายในร่างกาย ระบบสำคัญจะเกี่ยวข้องกับ Stress ฮอร์โมนทั้งหลาย กระตุ้นระบบประสาท ทำให้หลอดเลือดมีการหดตัว ซึ่งผู้รับวัคซีนไม่ได้แกล้งทำ เหมือนกรณีบางคนพูดในที่สาธารณะเป็นลมก็มี” ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าว

ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีข้อแนะนำเมื่อพบผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการทางระบบประสาทหลังรับวัคซีน เช่น ชา อ่อนแรง ตามัว ต้องทำอย่างไร ซึ่งต้องมีแพทย์มาประเมินและให้คำแนะนำว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมาจาก ISRR หรือเกิดจากปัญหาอย่างอื่น เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันในสมอง หรือมีเลือดออก เพราะเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งมีน้อยมากกรณีแบบนี้ในต่างประเทศ และในไทยก็ยังไม่มี จึงเป็นเหตุผลที่ว่าหลังฉีดวัคซีนต้องสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที

สำหรับข้อมูลในต่างประเทศเวลาฉีดวัคซีนซิโนแวคมีปฏิกิริยาดังกล่าวหรือไม่ จากข้อมูลประเทศบราซิล ปฏิกิริยาที่เป็นผลแทรกซ้อนเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนซิโนแวคที่เป็นยาจริงและยาหลอกเป็นอย่างไร ปรากฏว่า ปฏิกิริยาไม่แตกต่างกัน อย่างบางคนฉีดยาหลอกก็มีอาการอ่อนแรงได้ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาร่างกายที่เกิดขึ้นได้

“สำหรับประโยชน์ของวัคซีน จากการศึกษาของบราซิลในบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจำนวน 12,000 คน โดยการศึกษาประสิทธิภาพขั้นต้น เปรียบเทียบการติดเชื้อของคนที่ฉีดวัคซีนหลอก(น้ำเกลือ) เมื่อฉีดแล้วจำนวนคนติดเชื้อและมีอาการเพิ่มสูงขึ้น ส่วนคนที่รับวัคซีนจริงพบว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแล้วมีอาการได้ 50.7% อันนี้เป็นที่มาที่คนมักเอามาว่า จำนวนน้อย แต่เราเปรียบไม่ได้ เพราะอันนี้เขาเปรียบเทียบบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูง ที่สำคัญยังพบว่าคนติดเชื้อแล้วมีอาการระดับที่ต้องให้ออกซิเจนสามารถป้องกันได้เกือบ 84% และไม่พบใครต้องเข้าไอซียูเลย สรุปคือ วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน แม้จะติดเชื้อแล้วภูมิต้านทานก็พอเพียงทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส ไม่ให้ลุกลามจนเกิดอาการรุนแรงจนถึงต้องเข้าไอซียู” ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าว และว่า ทั้งนี้ ข้อมูลของคนไทยจากการศึกษาของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์เชี่ยวชาญของจุฬาฯ มีการศึกษาภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มครบพบว่า ระดับภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงเสริมความมั่นใจได้มากขึ้น