ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้พื้นที่กทม. ปัญหาจัดการยาก เตียงว่างแต่ไม่มีใครส่งแอดมิท ห่วงไอซียูรับได้ถึงแค่ 10 วัน หากขยายเตียงรับได้ 20 วัน ด้าน สพฉ.เผยมีบุคลากรปฏิบัติส่งผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 40-50 คน รถรับส่งประมาณ 20 คัน กำลังระดมเพิ่มอยู่

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือในต่างจังหวัดนั้นไม่มีปัญหา เพราะบริหารจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียว ส่วนในพื้นที่กทม.ที่เห็นเป็นปัญหาอยู่นั้นเพราะมีหลายหน่วยงานที่ดูแล จึงต้องขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในการทำฮอทพิเทล เพื่อแยกคนที่อาการสีเขียวเข้าไปอยู่ ตอนนี้หาได้กว่า 5-6 พันเตียงมีการเข้าอยู่แล้วประมาณ 3 พันคน นอกจากนี้เราพยายามจัดคนที่อาการอยู่ในขั้นเหลืองอ่อนไปอยู่ที่สถาบันธัญญารักษ์ 200 เตียงซึ่งรับเข้าแล้ว 50 คน วันนี้จะส่งเข้าอีก 50 คน จากนั้นพยายามให้รพ.ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนแพทย์ผ่องถ่ายคนไข้สีเขียวออกมาอยู่รพ.สนาม และฮอทพิเทลแทน เพื่อรีบเอาคนที่ที่อาการเหลืองแก่ ไปจนถึงแดงเข้าไปรักษาในรพ.

สำหรับสถานการณ์การดูแลผู้ติดเชื้อมีอาการนั้น ก็ต้องยืนยันอีกเช่นกันว่าในส่วนของเครื่องช่วยหายใจนั้นไม่ได้มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาอยู่คือ ICU ซึ่ง ICU ในต่างจังหวัดไม่มีปัญหา มีปัญหาเฉพาะในกทม. ซึ่งจากข้อมูลตอนนี้รวมรพ.ทุกสังกัดมีประมาณ 700 เตียง แต่ตอนนี้ว่างอยู่ประมาณ 140 เตียง หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง และมีผู้อาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คาดกันว่าเตียง ICU จะรองรับได้ประมาณ 10 วัน แต่ตอนนี้รพ.แต่ละแห่งไปขยายเพิ่มเติมก็คาดว่าจะสามารถรองรับได้ 20 วัน โดยทำ ICU Cohort ทั้งนี้ เฉลี่ยคนรักษาในไอซียู 14-20 วัน ดังนั้นเราต้องพยายามเอาคนติดเชื้อเข้าสถานพยาบาลเพื่อให้ได้รับการดูแล คนสีเหลืองอ่อนๆ ต้องได้รับยาเพื่อที่อาการจะได้ไม่หนัก แบบนี้ไอซียูเราถึงจะเพียงพอ นอกจากนี้ทุกคนต้องช่วยกันดึงกราฟคนติดเชื้อลง ช่วง 2 สัปดาห์นี้ต้องล็อคดาวน์ตัวเอง ไม่ควรกินข้าวร่วมกันแม้แต่คนในครอบครัวก็ตาม

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ล่าสุดวันที่ 24 เม.ย. ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรและอุปกรณ์ รับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รายงานข้อมูลจากสายด่วนกรมการแพทย์เฉพาะกิจ 1668 เพื่อไปยังจุดคัดกรองโรงพยาบาล(รพ.) สนามและฮอสปิเทล(Hospitel) 4 แห่งในกรุงเทพมหานคร(กทม).และปริมณฑล ว่า ที่ผ่านมา สพฉ. ได้ดำเนินการรับส่งต่อผู้ป่วยไป รพ.สนาม อย่างต่อเนื่องทุกวัน แต่สำหรับการรับผู้ป่วยไปยังจุดคัดกรอง 4 แห่งจะเริ่มดำเนินการในวันพรุ่งนี้(25เม.ย.)

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า สพฉ. ดำเนินการรับส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ในหลายส่วน ได้แก่ 1.ประสานข้อมูลกับสายด่วน 1669 1668 และ 1330 เป็นหลัก 2.นำข้อมูลที่มาจ่ายให้ทีมที่เข้ามาสนับสนุน เช่น มูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ร่วมกตัญญู รวมถึงรถพยาบาลจากบริษัทเอกชน รถจากจิตอาสา แต่หลังจากมีนโยบายดังกล่าว ตอนนี้ ฉพส. กำลังระดมจากหลายภาคส่วน เช่น เครือรพ.เอกชนในหลายแห่ง รถจากกองทัพ หน่วยงานจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จะสนับสนุนรถกระบะเข้ามาช่วย

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีบุลคลากรที่สามารถปฏิบัติงานได้เฉลี่ยวันละ 40-50 คน รถรับส่งประมาณ 20 คัน ซึ่งกำลังระดมเพิ่มอยู่ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว รถ 1 คันจะรับได้ 3-4 รายขึ้นอยู่กับลักษณะของรถ ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง จะเป็น 1 รายต่อรถพยาบาล 1 คัน ทั้งนี้ สายด่วน 1669 จะมีการคัดกรองผู้ที่ติดต่อเข้ามาตามระบบปกติ แต่ครั้งนี้เป็นภารกิจสำคัญ เพื่อรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ ไม่ได้เป็นการรับข้อมูลตรงจากประชาชน เราจะรับข้อมูลจากสายด่วน 1668 1669 และ 1330 เป็นหลัก

“ทีมที่ดูผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยโควิด-19 จะมีศักยภาพเท่ากัน หน่วยที่สแตนบายฉุกเฉินก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ขอความร่วมมือประชาชนว่า หากติดเชื้อก็ขอให้แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีการจัดรถไปรับอย่างเหมาะสม โดยภารกิจครั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่หน่วยเสริมที่ระดมมาเพิ่มเติม เช่น ต่างจังหวัด หน่วยที่อยู่นอกระบบ ไม่ได้เอารถจากในระบบมาใช้ แต่เป็นรถที่จัดมาเฉพาะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และขอย้ำว่า สพฉ. จะตรวจสอบความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันตัวเองให้ผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานส่วนนี้ โดยจะมีการฝึกอบรมให้เพิ่มเติม และมอบอุปกรณ์ ชุดป้องกันส่วนบุคคล(PPE) เพื่อป้องกันความปลอดภัยของทีม โดยทุกคนที่ไปรับผู้ป่วยต้องสวมชุดพีพีอี” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว