ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดสรรงบฯ ดูแล “บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข” กรณีรับความเสียหายจากการรักษาผู้ป่วยโควิด เผยปี 64 ยื่นคำร้องเบื้องต้น 11 ราย ช่วยเหลือแล้ว 3 ราย ในจำนวนนี้ 1 รายเป็น อสม. ที่เสียชีวิตเมื่อปี 63 ส่วนที่เหลือนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาอย่างเร่งด่วน

วันที่ 26 เม.ย. 64 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ให้บริการในระบบสาธารณสุข ทั้ง แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มคนที่ทำงานอย่างหนัก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในฐานะที่เป็นด่านหน้า ทำให้มีความเสี่ยงในการรับเชื้อระหว่างการปฏิบัติงานอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล และควบคุมการแพร่กระจายโรค  
ทั้งนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้ให้บริการทั้งบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ รองรับการช่วยเหลือเบื้องต้น หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการให้บริการ สำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง โดยเป็นไปตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ. 2559”

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา มีบุคลากรทางการแพทย์รับเงินช่วยเหลือจากกรณีโควิด-19 จำนวน 1 ราย และล่าสุดในปี 2564  มีผู้ให้บริการรวมถึง อสม. ที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 11 ราย ได้รับการช่วยเหลือ 3 ราย ในจำนวนนี้ 1 รายเป็น อสม.ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2563 แต่ได้รับการพิจารณาช่วยเหลือในปีนี้ ส่วนที่เหลือนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะมีการดำเนินการโดยเร่งด่วน  

สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข กำหนดใน 3 กรณี ดังนี้
1. กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 240,000-400,000 บาท
2. กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000-240,000 บาท
3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท

เรื่องที่เกี่ยวข้อง