ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ ไขข้อสงสัยประชาชนมีเตียงว่าง แต่เหตุใดมีคนไข้รอเตียง เผยกทม.เตียงว่างสุดอยู่ภาคเอกชน แต่การนำผู้ป่วยเข้ามีขั้นตอนเรื่องความปลอดภัย ขณะนี้เซ็ตระบบทั้งหมด พร้อมเผยความคืบหน้าการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิดพื้นที่กรุงเทพฯ 7 โซน บูรณาการทุกภาคส่วน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 27 เม.ย.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงการณ์บริหารจัดเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด19 ว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการได้ขอให้ทางทุกโรงพยาบาลส่งข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลาง รวมทั้งผู้ป่วยที่รับการรักษาในรพ. ทั้งนี้ สถานการณ์เตียงของประเทศข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย. 2564 เวลา 16.30 น. โดยแบ่งเป็น 13 เขตสุขภาพ ซึ่งกรุงเทพฯอยู่เขตสุขภาพที่ 13 ซึ่งสถานการณ์เตียงทั้ง 13 เขตสุขภาพมีเตียงทั้งหมด 44,560 เตียง ครองเตียงทั้งหมด 21,695 เตียง โดยเฉพาะพื้นที่เขตสุขภาพที่ 13 หรือกรุงเทพมหานคร มีเตียง 12,679 เตียง อัตราครองเตียง 7,959 เตียง มีเตียงว่าง 4,720 เตียง ซึ่งประชาชนสงสัยว่า ยังมีเตียงว่างแต่ทำไมถึงยังมีการรอเตียงอยู่

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในจำนวนเตียงที่มีอยู่ในกทม. เราพบว่า เป็นของภาคเอกชน และในจำนวนเตียงที่มีอยู่ เป็นเตียงประเภทไหน ทั้งนี้ เตียงของห้องความดันลบ เป็นห้องที่เพียบพร้อม มีเครื่องมือครบหมด หรือ (AIIR-ICU) และเตียงของห้อง Modified AIIR ซึ่งรองลงมาสามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้ โดย 2 ส่วนนี้มีผู้ป่วยเข้าไปครองเตียงแล้ว 70-80% พูดจริงๆคือ ถึงจุดตึง ไม่มีสเปซเหลือให้ผู้ป่วยรายใหม่ ตรงประเด็นนี้จึงต้องบริหารจัดการเตียงด้วยการสำรองเตียง โดยจะนำผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ไอซียูให้ถอยมาอยู่หอผู้ป่วยสามัญมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยจำเป็นจริงๆมาอยู่ และต้องไปเพิ่มห้องความดันลบ ซึ่งวันนี้ห้องความดันลบในรพ.เอกชนยังมีอยู่ แต่การจะเอาผู้ป่วยท่านใดท่านหนึ่งเข้าไปต้องอยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์ว่ามีความจำเป็นแค่ไหน ส่วนห้องประเภทต่างๆ ทั้งห้อง รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล ยังมีเตียงว่างอยู่ โดยผู้ป่วยสีเขียว ที่ไม่มีอาการสามารถรับบริการได้

ส่วนที่ประชาชนถามว่า กรณีมีคนรอเตียงอยู่ต้องใช้เวลานานแค่ไหนนั้น ต้องเรียนให้ทราบว่า ในกระบวนการนำผู้ป่วยไม่มีอาการหรือเพิ่งตรวจพบวันแรก เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา เรามีขบวนการโดยผู้ป่วยที่มีอาการมากจะให้เข้ารับการรักษาก่อน แต่หากมีอาการที่รอได้ก็จะเป็นกระบวนการถัดมา ในภาคเอกชนก็เช่นกัน เมื่อมีผู้ป่วยรอที่ รพ.เยอะ ก็ได้เปิดโรงแรมที่มีสถานพยาบาลข้างใน หรือที่เรียกว่า ฮอสพิเทล ในการรับผู้ป่วยอาการน้อย หรือไม่มีอาการไปพัก ห้องละไม่เกิน 2 คน หรือบางท่านมาเป็นครอบครัวก็ดูแลได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ส่วน รพ.สนาม ก็มีระบบทางการแพทย์เพรียบพร้อมเท่ากับอยู่ รพ.ใหญ่เช่นกัน ดังนั้น หากใครต้องไปอยู่ รพ.สนาม ขออย่าปฏิเสธ เพื่อให้ท่านได้หายจากโรค

“ การบริหารจัดการเตียงอย่างใน กทม. มีหลายหน่วยงาน อย่างกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ ทหารตำรวจ จะเห็นว่า โรงพยาบาลเอกชนมีจำนวนมากสุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างจำนวนเตียงว่างจะพบสูงกว่า 1.2 หมื่นเตียง เป็นของเอกชนกว่า 8,306 เตียง เอกชนมีความสามารถมาก แต่ที่ยังเข้าไม่ได้ เพราะต้องทยอยเอาคนไข้เข้าไปเพื่อความปลอดภัย และต้องมีการประเมินอาการผู้ป่วย อย่างในฮอสพิเทล หากมีอาการเปลี่ยนแปลงต้องมีรพ.หลักสามารถรับเข้าได้ทันที หรือมีระบบเครือข่ายเพื่อรับส่งต่อ” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในกรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 75-85% จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่องไอซียู ซึ่งการเพิ่มโครงสร้างไม่สามารถทำได้ทันที แต่เราสามารถปรับหอผู้ป่วยภายในให้คล้ายไอซียูได้ ส่วนนี้หลายรพ.ได้เพิ่มแล้ว และเราต้องเอาผู้ป่วยที่ไม่ได้จำเป็นอยู่ความดันลบออกมาอยู่หอผู้ป่วยสามัญก่อน ส่วนห้องอื่นๆประมาณ 50% ซึ่งรวมรพ.สนาม และฮอสพิเทล เราบริหารได้

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า มีคำถามว่า หากไปตรวจรพ.หนึ่ง แล้วอยากไปรักษายัง รพ.ที่มีศักยภาพสูง อย่างโรงเรียนแพทย์ อยากเรียนให้ทราบว่า โรคโควิดสามารถรักษาได้ใน รพ.ทุกระดับ แม้แต่รพ.สนาม หากอาการไม่มาก ไม่มีอาการ รักษาหายเหมือนกัน แต่หากท่านมีอาการหนัก มีความจำเป็นเป็นโรคซับซ้อน เราสามารถส่งท่านไปยัง รพ.ที่มีแพทย์เชี่ยวชาญ ซึ่งตอนนี้ในกรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 7 โซนตามพื้นที่ติดต่อกัน โซนที่ 1 รพ.พระมงกุฎเกล้าและรพ.ราชวิถี เป็นหัวหน้าโซน โดยจะช่วยดูรพ.เล็ก เป็นกลุ่มเครือข่ายในโซนนั้นๆ 2.รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโซนใต้ 3.โซนเหนือ เป็นรพ.ธรรมศาสตร์และรพ.ภูมิพล 4.โซนตะวันออก เป็น รพ.รามาธิบดี 5. โซนรพ.ศิริราช 6. โซนรพ.วชิรพยาบาล ทั้ง 6 โซนมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลพี่น้องประชาชนได้ดีที่สุด และ 7 โซนของภาคเอกชนจะมีรพ.เครือใหญ่ มีระบบดูแลในเครือกันเอง หากมีความจำเป็นต้องข้ามโซนก็จะประสานมาศูนย์บริหารจัดการที่รพ.ราชวิถี

“ขณะนี้ 2,500 คนเราได้แก้ปัญหาเตียงในช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตาม จะมีการเปิดรพ.แรกรับของกระทรวงสาธารณสุข ที่อาคารนิมิตรบุตร ภายในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ซึ่งผู้ป่วยทุกรายจะเข้ารับการรักษาได้ทั้งหมด และมีการขยายรพ.สนาม และเพิ่มเตียงกลุ่มสีเหลืองมากขึ้น” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว