ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยข้อเท็จจริง 3 ประเด็น หลังข่าวลือเจรจาจองซื้อวัคซีนโควิดไฟเซอร์ ทำประชาชนเข้าใจผิด ล่าสุดสอบทานข้อมูลแล้ว วอนปชช.อย่าหลงเชื่อข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขอชี้แจงกรณีมีข่าวลือเกี่ยวกับการเจรจาจองซื้อวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งได้มีการส่งต่อในโซเชียลมีเดีย โดยที่ไม่ได้มีการสอบทานแหล่งข้อมูลให้ดี จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับประชาชน โดยมี 3 ประเด็นซี่งสถาบันฯได้สอบทานข้อมูลกับบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยแล้วพบว่าตรงกับข้อมูลของสถาบันฯ คือ

1. กรณีที่ระบุว่าไฟเซอร์เคยเสนอขายวัคซีนให้ไทย 13 ล้านโดสนั้น "ไม่เป็นความจริง" ตัวเลข 13 ล้านโดสเป็นตัวเลขที่บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย ใช้ในการนำเสนอบริษัทแม่ เพื่อเตรียมหารือกับกระทรวงสาธารณสุขไม่ใช่จำนวนที่เสนอขายให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าว เกิดจากการประมาณการของบริษัท โดยอ้างอิงจำนวนจากแผนการจัดหาวัคซีน โควิด19 เดิมในปี 2563 ที่เคยตั้งไว้ว่าจะจัดซื้อวัคซีนแบบทวิภาคีคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรหรือประมาณ 6.5 ล้านคน ฉีดคนละ 2 โดส จึงรวมประมาณ 13 ล้านโดส

2. กรณีระบุว่าที่การซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์ไม่ต้องใช้เงินซื้อมีวัคซีนให้ใช้ก่อนค่อยจ่ายทีหลังนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งการจัดซื้อวัคซีนของฟรีเซอร์ต้องมีการจ่ายเงินจองตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาและไม่มีข้อเสนอในการจัดส่งวัคซีนให้ใช้ก่อนแต่อย่างใด กรณีนี้ผู้ที่ได้บการส่งต่อข้อมูลทางโซเชียลฯน่าจะตั้งข้อสงสัยแล้วว่าจะ จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีบริษัทไหนให้ใช้วัคซีนก่อน โดยไม่ต้องเสียเงิน ท่ามกลางสถานการณ์การแย่งชิงวัคซีนทั่วโลก

3.กรณีระบุว่าไฟเซอร์เสนอขายวัคซีนให้กับรัฐบาลถึง 4 รอบ แต่ถูกปฏิเสธนั้นไม่เป็นความจริงโดยที่ผ่านมาไฟเซอร์ได้เข้ามานำเสนอข้อมูลผลการวิจัยในระยะต่างๆ รวมถึงผลการใช้จริงในต่างประเทศให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคเป็นระยะไม่เคยมีการปฏิเสธการเข้าพบ ซึ่งเดิมวัคซีนของไฟเซอร์ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และเก็บใน2-8องศาฯได้เพียง 5 วัน ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกกับประเทศไทยในการจัดเก็บและขนส่ง เนื่องจากมีสถานที่จัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาฯจำนวนน้อย การจะนำวัคซีนมาใช้ในวงกว้างเป็นไปได้ยาก

อย่างไร็ตาม ต่อมามีผล การศึกษาเพิ่มเติมของบริษัทแสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บและการขนส่งวัคซีนทำได้สะดวกขึ้นและมีข้อมูลสนับสนุนว่าวัคซีนสามารถใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปรวมทั้งเงื่อนไขที่บริษัทสามารถส่งวัคซีนให้ใช้ได้ภายในปี 2564 จึงมีการเจรจาต่อเนื่อง เพื่อจองซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากรในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา

 "การจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ปิดช่องว่างฉีดให้กับเด็กกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มระบาดเป็นกลุ่ม เนื่องจากขณะนี้เป็นวัคซีนตัวเดียวที่มีผลการศึกษาในกลุ่มอายุดังกล่าว ขณะที่ตัวอื่นมีข้อจำกัดให้ใช้ในอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศทำให้มีการจองซื้อ และหากได้จำนวนมากก็จะฉีดให้กลุ่มประชากรอื่นด้วย"นพ.นครกล่าว

 

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันนี้ตนจะมีการหารือร่วมกับผู้บริหารบริษัทไฟเซอร์เพิ่มเติม เนื่องจากทางบริษัทฝรั่งจะทำงานเป็นสเต็บ เมื่อบริษัทลูกมาเจรจราแล้ว ได้ความคืบหน้าทางบริษัทแม่ก็มาหารือต่อ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าวันนี้จะมีการเสนอราคามาเลยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า โดยเนื้อหาสาระนั้น น่าจะเป็นเรื่องของหลักการกันก่อน ทั้งหลักการของบริษัท และหลักการของประเทศไทย