ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

11 สภาวิชาชีพแก้ปัญหาโควิด19 ใช้ทักษะเฉพาะทางของแต่ละวิชาชีพมาช่วย พร้อมเผยข้อมูลบุคลากรทำงานต่อเนื่อง 24 ชม. ทั้งแพทย์พยาบาลติดเชื้อ ถูกกักตัว ขณะที่พยาบาล 1 คน ดูแลผู้ป่วยมากถึง 100 เตียง จากเดิม พยาบาล 1 คนดูแล 20 เตียงเท่านั้น ขอเชิญชวนทุกวิชาชีพร่วมกันเป็นอาสาสมัครช่วยผ่านพ้นวิกฤต

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย น.ส.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ในฐานะประธานสมาพันธ์สภาวิชาชีพ ร่วมกันแถลงข่าวสมาพันธ์สภาวิชาชีพรวมใจกู้ภัยโควิด-19 โดยผนึกกำลัง 11 สภาวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาสถาปนิก สภาทนายความ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อแก้ปัญหาโควิด โดยนำทักษะเฉพาะด้านของสภาวิชาชีพต่างๆ มาช่วยสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุช อาทิ ทักษะด้านการออกแบบของสภาสถาปนิก มาออกแบบรพ.สนาม หรือสถานที่ฉีดวัคซีน หรือรถโมบายโคฮอต เพื่อให้ความปลอดภัย หรือแม้แต่ทักษะการฉีดยา ทั้งเภสัชกร สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ มาอบรมเพิ่มและช่วยฉีดวัคซีนให้ประชาชน เป็นต้น

 

นายอนุทิน กล่าวว่า หากได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายวิชาชีพต่างๆ ที่มีสมาชิกมากกว่า. 5 แสนคน ช่วยเหลือสนับสนุนเชื่อว่าการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยจำนวนมากจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยการฉีดวัคซีนไม่ได้จำกัดแค่คนไทย แต่คนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยทุกคน พร้อมชื่นชมขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละ ทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่กดดัน น่ากลัว แต่ก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ทัศนา กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 จะพบว่าบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาลต่างทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชม. มีทั้งแพทย์พยาบาลติดเชื้อ และ ถูกกักตัวในแต่ละรพ. มีพยาบาลติดเชื้อกักตัว เฉลี่ย 20-30 คน โดยมีสถานพยาบาลในกทม. ต้องกักตัวแพทย์พยาบาลมากถึง 17 แห่ง และ มีกลุ่มพยาบาลถูกกักตัวมาก 78 คน พบในโรงเรียนแพทย์ พื้นที่กทม.ทำให้สูญเสียบุคลากรในการทำงาน ทำให้งานหนักล้นมือ บางรพ. พยาบาล 1 คน ดูแลผู้ป่วยมากถึง 100 เตียง จากเดิม พยาบาล 1 คนดูแล 20 เตียงเท่านั้น จึงถือว่าเป็นภาวะวิกฤต จึงอยากเชิญชวนทุกวิชาชีพร่วมกันเป็นอาสาสมัครในการช่วยแก้ไขวิกฤตโควิด

ทั้งนี้ สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ทั้ง 11 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชปถัมภ์ มีมติร่วมกันในการรวบรวม ผู้ประกอบวิชาชีพ ที่มีความรู้ และสามารถจัดสรรเวลาเพื่อมาเป็นอาสาสมัครร่วมปฏิบัติภารกิจที่จะสามารถปฏิบัติได้เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข UHOSNET กรุงเทพมหานครและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ โดยมีหลักการร่วมกันว่า

1. การปฏิบัติภารกิจในสถานการณ์นี้ ไม่ถือว่าเป็นการก้าวล่วงการปฏิบัติของวิชาชีพอื่นที่มีกฎหมายกำกับอยู่

2. ต้องมีการเตรียมความรู้ และความพร้อมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบุคลากรมีความปลอดภัย

ประเด็นที่บุคลากรของแต่ละสภาวิชาชีพ จะร่วมปฏิบัติได้ มีดังนี้

1. การให้ข้อมูลและให้คำปรึกษา - ปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพ

2. การฉีด Vaccine - วิชาชีพแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ปฏิบัติได้

3. การบริหารจัดการโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ UHOSNET/ Hospitel - ปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพ

4. การให้บริการ การดูแลในหอผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ป่วย COVID- 19 - วิชาชีพการพยาบาล ปฏิบัติได้

5. การตรวจคัดกรอง และ swab เพื่อหาเชื้อ COVID-10 - ปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพสุขภาพที่ได้รับการอบรมเพิ่มเติม

6. การจัดเตรียมโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม ดัดแปลงอาคาร ห้องความดันลบ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือและ

ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความปลอดภัย - วิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ปฏิบัติได้

ทั้งนี้แต่ละสภาวิชาชีพ ได้โพสต์แบบรับลงทะเบียนอาสาสมัครใน websiteของแต่ละสภาวิชาชีพ ในหัวข้อ "สมาพันธ์สภาวิชาชีพรวมใจ สู้ภัยโควิด-19"