ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ย้ำขอให้ระวังการติดเชื้อในครอบครัว กินข้าวร่วมกัน โดยเฉพาะพื้นที่กทม. พร้อมจับคู่แล็ปเอกชนรายงานผลตรวจเชื้อเข้าระบบ 1668 พร้อมประสานหาเตียง พร้อมประสาน 191 เชิญผู้ป่วยที่ไม่ยินยอมเข้ารับการรักษา ให้เข้าสู่ระบบ ด้านกรมการแพทย์แบ่งอาการผู้ป่วย 4 ระดับ

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวถึงปัญหาแล็ปเอกชนไม่ยอมตรวจ โควิด - 19 ให้กับประชาชนเนื่องจากถูกบังคับให้ต้องมีการจัดหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ ว่า ตามที่ได้มีการจัดหาเตียงที่ผ่านมา ค่อนข้างมีความขัดข้องเนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง เดิมตามหลักการที่มีการตกลงพูดคุยกัน คือ ในรพ.ไหนตรวจเจอผู้ติดเชื้อฯ รพ.นั้นจะต้องรับผู้ป่วยทุกคนเข้าสู่การรักษา รวมถึงแล็ปเอกชนก็ต้องจับคู่สถานพยาบาลเพื่อส่งต่อ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมามีคนไปตรวจเยอะ รพ.ก็มีอัตราการครองเตียงจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นวันนี้กรมการแพทย์จึงได้หารือกับแล็ปเอกชน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ โดยจากนี้หากแล็ปตรวจเจอผู้ติดเชื้อฯ ให้แจ้งข้อมูลผ่าน 2 ช่องทางคือ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (ศปคม.) และให้แจ้งมาที่สายด่วน 1668 ด้วย เพื่อที่ 1668 จะโทรกลับผู้ติดเชื้อเพื่อสอบถามอาการและจัดหาสถานพยาบาลเพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด

นายสาธิต กล่าวต่อว่า วันนี้มีรายงาน อสม.เมืองแกลง จ. ระยอง เสียชีวิตจากโควิด -19 ทั้งที่ไม่ได้ไปเสี่ยงที่ไหน แต่สอบสวนโรคพบว่ามีลูกอยู่ที่กรุงเทพฯ กลับไปเยี่ยม ขณะนี้กำลังตรวจลูกว่าติดเชื้อหรือไม่ แต่ตัว อสม.คนนี้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อราวๆ 11:00 น. อาการทรุดเร็วจากการมีโรคประจำตัว ดังนั้นการติดเชื้อในครอบครัวที่ต้องเดินทางไปมาหาสู่กินข้าวร่วมกัน จะต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. รณรงค์กับทุกคนว่าเรามีความจำเป็นจะต้องระมัดระวังและป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงมีหลักการว่าผู้ติดเชื้อทุกรายต้องอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรการแพทย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรพ.เอกชน รพ.รัฐ แล็ปเอกชน ตรวจเจอต้องรายงานมาที่ระบบกระทรวงสาธารณสุข ถ้ามีเตียงก็รับ ถ้าไม่มีเตียงก็ให้ประสานมาที่ 1668 ทั้งนี้กรณีรอผลตรวจนั้นกระทรวงคุยกับแล็ปว่าเมื่อได้ผลต้องรายงานเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์กระทรวงภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งระบบ 1668 จะเห็นชื่อ เบอร์โทรติดต่อ เพื่อประสานดึงชื่อเข้ามาสอบถามว่ามีเตียงรองรับหรือไม่ หากไม่มีเตียงจะจัดการให้ อาจจะมีระบบโยกย้าย จัดหาที่ให้อย่างเหมาะสม แต่บางรายให้เบอร์โทรต่อแล็ปผิด ติดต่อไม่ได้ ดังนั้นขอให้ช่วยกัน และเมื่อจัดหาเตียงให้แล้วขอร้องว่าอย่าปฏิเสธการักษา ขอให้มารักษา อยู่ในมือแพทย์โดยเร็ว จะปลอดภัยมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรพ.สนาม รพ.เล็ก ใหญ่ก็สามารถดูแลได้อย่างดีที่สุด

ทั้งนี้ จากข้อมูลการโทรเข้ามาที่สายด่วน 1668 เมื่อ 2-3 วันที่ ผ่านมา จากสายที่โทรเข้ามาประมาณ 1 พันสายนั้น มีขอเตียงอยู่ 100 สาย ส่วนใหญ่มีเตียงของรพ.ที่ไปตรวจรองรับอยู่แล้ว แต่ไม่ทันใจ บางส่วนมีการตกหล่นจริงๆ ซึ่งทีมแพทย์จะคัดกรองและจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายได้รับการติดต่อกลับไปแล้วปฏิเสธการรักษาเพราะคิดว่าสามารถดูแลตัวเองได้ ในกรณีเช่นนี้หากมีอาการดีในช่วง 1 สัปดาห์ แต่เราคิดว่ามีความจำเป็นต้องกักกันโรคจะให้ 191 เป็นผู้ประสานเชิญผู้ป่วยที่ไม่ยินยอมเข้ารับการรักษาให้เข้ามารับการรักษาให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่อยากให้คนที่อยู่ในระยะแพร่โรคอยู่ในชุมชน แต่ถ้าอาการดีมานานแล้วอยู่ในเงื่อนไขที่อาจจะดูแลตังเองที่บ้านได้ จะมีการลงทะเบียนรับคำแนะนำจากทีมแพทย์ หรือรพ.ที่ไปตรวจ มีการติดตามอาการเป็นระยะ จนกว่าจะพ้น 14 วัน ซึ่งถือว่าพ้นระยะการแพร่เชื้อ

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เราแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 ระดับ คือ1.ไม่มีอาการ 2.มีอาการเล็กน้อย 3. อาการปานกลาง และ 4. ผู้ป่วยมีอาการหนักและรุนแรง ซึ่งกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก หรือรุนแรงกว่า 900 รายนั้น ในส่วนหนึ่งประมาณ 200 กว่ารายเป็นผู้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องอยู่ในไอซียูความดันลบ ที่อาจจะมีข้อจำกัดบ้างขณะนี้ แต่ผู้ป่วยหนักโดยทั่วไปตอนนี้มีการปรับระบบให้สามารถอยู่ในไอซียูที่ปรับมาตรฐาน มีความปลอดภัยแล้ว ซึ่งตอนนี้มีการขยายเตียงไอซียูได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องอยู่ในห้องความดันลบ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจไม่ใช่ว่าจะเสียชีวิตทั้งหมด โดยตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ กว่า 400-500 ราย ตัวเลขเสียชีวิตยังอยู่ที่100 กว่ารายเท่านั้น ส่วนรอบนี้พบว่ามีเด็กติดเชื้อเยอะ ตามสัดส่วนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเยอะ ซึ่งเด็กที่มีอาการหนักก็มี การรักษาต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์เฉพาะ ซึ่ง ในกทม.มีสถานพยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กรองรับเพียงพอ