ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในปัจจุบันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันทางธุรกิจ  ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่หลายด้าน ทั้งการเป็นแหล่งค้นหาข้อเท็จจริง และความน่าเชื่อถือ ซึ่งสถานการณ์ทั้งด้านการเมืองและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นบททดสอบสำคัญ

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ภาคีโคแฟค ประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวปลอม ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมเสวนาเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 15 (Digital Thinkers Forum) มีการพูดคุยกันในประเด็น “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด : บทเรียนและอุปสรรค” 


รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดประเด็นการเสวนาว่า สื่อมวลชนมักจะโหยหาความจริงในการนำเสนอข่าว และประชาชนเองก็ต้องการเช่นกัน ผลการสำรวจในต่างประเทศล่าสุด (2563) พบว่าประชาชนให้ความเชื่อถือกับสื่อกระแสหลักเพียง 40 % เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างประเทศที่มีสถานการณ์ใกล้เคียงกัน พบว่าสื่อทั่วโลก เช่น ฟิลิปปินส์ เดลี่ ต้องปรับตัวให้เข้ากับ Digital Disruption มากขึ้น โดยทิ้งสื่อสิ่งพิมพ์ เปลี่ยนมาทำเป็น Podcast แทน เน้นทำประเด็นเชิงลึกมากขึ้น สื่อสถานีวิทยุของไต้หวันก็จัดบริการ Phone-In ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่โทรเข้ามาปรึกษาเรื่องต่าง ๆ ได้


คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เห็นว่า สิ่งสำคัญของสื่อมวลชนคือต้องผลิตสิ่งที่มีคุณภาพ มีคุณค่าในเชิงข่าวสาร เน้นความถูกต้องของข่าว และการนำเสนอของสื่อควรมีการแยกระหว่างความจริงกับความคิดเห็นออกมาให้มากที่สุด ขณะเดียวกันสื่อต้องมีอิสรภาพ ไม่ใช่แค่รับข้อมูลจากรัฐมานำเสนอเท่านั้น แต่ต้องมีการขุดคุ้ยข้อเท็จจริงด้วยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้กรองข่าวลวงออกมาได้มากขึ้นด้วย ต้องเปิดใจในการรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันของทุกฝ่าย รวมถึงการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น นำบทเรียนในการทำงานมาเป็นแนวทางปรับปรุงต่อไปในอนาคต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับบทเรียนเดิม


ขณะที่มุมมองของผู้ปฏิบัติ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ กล่าวว่า การทำงานข่าวในปัจจุบันมักจะมีความเห็นในการนำเสนอข่าวสารแบบทันที ในอดีตสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารมากกว่านี้ แต่ปัจจุบันมีหลายประเด็นที่สื่อมวลชนไม่สามารถพูดถึงได้  และไม่ได้ทำหน้าที่ขุดคุ้ยข้อเท็จจริงให้มากขึ้นด้วย ทำให้การนำเสนอขาดความเชื่อถือและน่าสนใจ นภพัฒจักษ์มองว่า การนำเสนอข่าวสารหลายครั้งที่ไปแตะต้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐ  มักจะถูกรัฐกล่าวหาว่าสื่อมวลชนสร้างความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ แม้ว่าการนำเสนอนั้นเป็นเพียงข้อเท็จจริงก็ตาม เช่นกรณีกลุ่มคนรุ่นใหม่กว่า 500,000 คนเขาร่วมกลุ่มย้ายประเทศในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกของคนไทยมากกว่า 500,000 คนที่มีต่อประเทศไทย จากทั้งสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้า รวมไปถึงข่าวลวงมากมาย สื่อมืออาชีพจึงต้องตระหนักถึงปัญหา กู้ความเป็นที่ต้องการของประชาชน ด้วยทักษะเชิงลึก ทักษะทางออนไลน์ และทักษะทางการแพทย์ให้มากขึ้น

 


ด้านบทบาทขององค์กรวิชาชีพซึ่งจะต้องปกป้องเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชน จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าสื่อมวลชนได้รับผลกระทบและกลายเป็นผู้ว่างงานกว่า 800 คน จากการถูก Digital Disruption ทำให้มีความต้องการคนจำนวนที่น้อยลง ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สื่อมวลชนได้รับผลกระทบจากการทำงานภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งในช่วงการ Lockdown รอบแรก องค์กรสื่อเองก็ได้มีการหารือกับ ศบค. และรัฐบาลในการผ่อนปรนในการดำเนินการขนส่งและผลิตข่าว


“องค์กรสื่อก็ได้พูดคุยกับทางศบค. ถึงจุดอ่อนในการสื่อสารต่อประชาชน โดยให้ข้อเสนอไปว่าต้องชัดเจนมากขึ้น และให้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ไม่ใช่แค่รอในช่วงเวลา 11.30 น. เสรีภาพสื่อมวลชนในปัจจุบันก็ตกยากลำบากในการขอข้อมูลและนำเสนอข้อมูล รวมถึงการสัมภาษณ์ซึ่งทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถซักถามแบบโทรศัพท์หรือเห็นหน้าตาคุยกันได้เลย ข้อมูลลวงส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการคลาดเคลื่อนในการให้ข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งมักจะโทษสื่อมวลชนเสมอ ๆ แต่ทางรัฐเองก็ควรที่ตระหนักถึงในกรณีที่นำเสนอข้อมูลไม่ตรงกันให้ได้”


เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวของสื่อหลักว่า ควรนำ Big Data มาดัดแปลงกับความเป็นนักข่าว ผสมผสานความเป็น Content Creator ให้กลายเป็นนักข่าวเชิงข้อมูลมากขึ้น แม้ว่ามีผลกระทบจากการจัดกิจกรรมไม่ได้ แต่สื่อมวลชนก็ต้องปรับตัวในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ใช้เครื่องมือ Digital เข้ามาช่วยให้มากขึ้น สามารถแตกประเด็น ต่อยอด และแสวงหาข้อเท็จจริงไปพร้อม ๆ กันกับประชาชน ในสถานการณ์ที่ข้อมูลข่าวสารมีผลต่อประเด็นทางสังคมโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล ภาคีโคแฟค ประเทศไทย มองว่า การทำงานที่ผ่านมาของภาคีโคแฟคพบว่ามีข่าวลวงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการอ้างอิงบุคคนที่มีอยู่จริงในการปล่อยข่าวลวงในเรื่องของวัคซีนและการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้ได้รับความความสนใจและแชร์ต่อจำนวนมาก โดยการแชร์ข้อมูลข่าวลวงในช่วงนี้มักจะเป็นการส่งต่อผ่านกลุ่มไลน์เพื่อน ญาติ และครอบครัว ผู้รับมีโอกาสสูงที่จะเชื่อในข่าวลวงนั้น ๆ  อีกทั้งข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนก็ไม่ไว้วางใจ ยิ่งส่งผลให้เชื่อข่าวลวงนั้นๆ มากขึ้นไปอีก ซึ่งมีการวิจัยในไนจีเรียระบุว่า การส่งต่อข่าวลวงเรื่องโควิด-19 เป็นจำนวนมากจนทำให้เข้าใจผิดนั้น มักเกิดจากพื้นฐานความเป็นห่วงหรือความหวังดีนั่นเอง


“UNESCO กล่าวว่าสื่อมวลชนในปัจจุบันทำงานภายใต้ภาวะที่ล่อแหลมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนคนรับสื่อมีการสรุปข้อมูล บิดเบือนข้อมูลแหล่งข่าว และไม่มีข้อมูลแหล่งข่าวที่ชัดเจน ทำให้ตรวจสอบได้ยากมาก  ฉะนั้นภาคีเครือข่ายด้านสื่อจึงต้องทำงานอย่างหนักให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ข้อมูลต้องได้รับการตรวจสอบความเที่ยงตรงและถูกต้อง มีการอัพเดตตลอดเวลา พร้อมการปลูกฝังการรู้เท่าทันของสื่อต่อประชาชนที่จะส่งผลให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้น”

 


ด้าน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการด้านสื่อและที่ปรึกษาภาคีโคแฟค ประเทศไทย มองถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนในปัจจุบันว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปีที่ 2 สมาคมสื่อต่างๆ ในประเทศไทยก็ได้ออกแสดงออกถึงความเป็นห่วงของการประกาศใช้  พ.ร.บ. ต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการแทรกแซงของรัฐในการนำเสนอข่าวได้  แนวคิดหลักของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก คือการรายงานอย่างปราศจากความกลัว เสนอข่าวอย่างปลอดภัยและมีเสรี โดยเฉพาะข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ต้องเที่ยงตรง ไม่เอนเอียงฝ่ายใด และเชื่อถือได้


สนิทสุดา เอกชัย กรรมการกองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า จากดัชนีเสรีภาพสื่อขององค์กรสื่อไร้พรมแดน พบว่าอันดับของประเทศไทยในปี 2563 ตกลงมาอยู่ที่ 140 ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากโครงสร้างอำนาจรัฐที่ควบคุมการแสดงความคิดเห็นประชาชนและการทำงานของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายหรือการแทรกแซง จนทำให้สังคมเกิดความไม่ไว้วางใจและเกลียดชังจากการถูกควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐไร้ประสิทธิภาพในการรับมือ แต่มีอำนาจล้นเหลือ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบมาก ในฐานะสื่อมวลชนเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนในการตรวจสอบความจริง ทำอย่างไรจึงจะไม่ตกเป็นกระบอกเสียงของรัฐ และกอบกู้ศรัทธาของสื่อมวลชนพร้อมค้นหาความจริงให้กับสังคมต่อไป


ปิดท้ายการเสวนาด้วยความเห็นของ ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งมองว่าว่า ข้อมูลข่าวสารเป็นหนึ่งในทรัพยากรสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเติบโตทั้งด้านกาย ใจ และปัญญา 3 ด้านได้ ปัจจุบันนี้การให้ข้อมูลกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ทำให้เกิดการให้ข้อมูลเพียงแค่ด้านเดียว ส่งผลให้เกิดผลกระทบจำนวนมากในสังคม สื่อมวลชนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องแก้ปัญหา เป็นด่านแรกในการตรวจสอบความจริง เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เที่ยงตรง มีข้อมูลรอบด้าน และได้ใช้วิจารณญานในการรับสาร ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพของสังคมดีขึ้น ก้าวพ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19