ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จ่ายเงินค่ารักษาและตรวจคัดกรองโควิด ประจำเดือนเมษายนให้ รพ. 148 แห่ง เป็นเงิน 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่ารักษา 1,700 ล้านบาท และค่าตรวจคัดกรอง 1,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาได้ปรับรอบการจ่ายเป็นทุกๆ 15 วัน ทำให้รพ. มีสภาพคล่องดีขึ้น โดยไม่กระทบการบริหารจัดการในส่วนอื่นๆของ รพ.
    
วันที่ 7 พ.ค. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้โอนเงินค่ารักษาและตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ 148 แห่ง เป็นเงินกว่า 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่ารักษาโควิด-19 จำนวน 1,700 ล้านบาท และค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 เดือนเมษายน 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา สปสช.ได้ปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยบริการต่างๆ ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่มีรอบการจ่ายทุก 1 เดือน เป็นจ่ายทุกๆ ครึ่งเดือน หรือเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่หน่วยบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเมื่อมีสภาพคล่องดีขึ้น ก็จะมีความคล่องตัวในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มากขึ้นด้วยนั่นเอง

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของงบบริการสาธารณสุขกรณีการคัดกรองโควิด 19  สำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) นั้น สปสช.ได้ปรับให้จ่ายเร็วขึ้นเป็นทุกๆ 15 วัน ซึ่งครอบคลุมงบบริการผู้ป่วยนอกทุกประเภท ไม่ใช่แค่งบผู้ป่วยนอกกรณีโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลที่ดูแลมีกระแสเงินสดที่จะนำไปหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยไม่กระทบการบริหารจัดการในส่วนอื่นๆ ของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามในส่วนของงบรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP COVID-19 นั้น มีการเบิกจ่ายให้โรงพยาบาลทุก 15 วันอยู่แล้ว  

“ในส่วนของโรงพยาบาลหากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ได้เปิดสายด่วนสำหรับให้โรงพยาบาลโทรศัพท์สอบถามปัญหาข้อสงสัยในการเบิกจ่ายเงิน ขึ้นมา 6 เลขหมาย ประกอบด้วย 02-142-3100 ถึง 3, 061-402-6368 และ 090-197-5129 ขอย้ำว่าทั้ง 6 หมายเลขสำหรับโรงพยาบาลเท่านั้น ในส่วนของประชาชนโทรศัพท์ไปได้ที่สายด่วน 1330 เหมือนเดิม” เลขาธิการ สปสช. กล่าว