ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.เผย24 ชั่วโมง มีรายงานสกัดกั้นการลักลอบมาถึง 104 ราย ทั้งพรมแดนลาว เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย ส่วนวันที่ 1-10 พ.ค. มีลักลอบถึง 1,126 คน เน้นย้ำฝ่ายปกครองป้องกันการเข้าประเทศทางชายแดน

วันที่ 10 พ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,630 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังใน รพ. 1,321 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 301 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย หายเพิ่มขึ้น 1,603 ราย เสียชีวิต 22 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 85,005 ราย หายป่วยสะสม 55,208 ราย  เสียชีวิตสะสม 421 ราย สำหรับระลอกใหม่ตั้งแต่ เม.ย.มีผู้ติดเชื้อสะสม 56,142 ราย หายสะสม 27,782 ราย เสียชีวิตสะสม 327 ราย วันนี้คนหายมากกว่าป่วยอีกวันหนึ่ง ทำให้ยังอยู่ระหว่างรักษา 29,376 ราย มีอาการหนัก 1,151 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 389 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 22 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 13 ราย อายุตั้งแต่ 30-92 ปี ค่ากลาง 65 ปี โดยอยู่ใน กทม. 13 ราย เชียงใหม่ 2 ราย ปทุมธานี สุพรรณบุรี ระยอง สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น และมหาสารคาม จังหวัดละ 1 ราย พบว่ามีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง ไต ผู้ป่วยติดเตีบง สะท้อนผู้อาศัยร่วมผู้ป่วยติดเตียงทำให้ติดเชื้อในครอบครัวทำให้ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเสี่ยงเสียชีวิต โดยวันที่ทราบผลติดเชื้อจนเสียชีวิต วันนี้พบว่า 22 ราย มีถึง 2 รายที่เสียชีวิตในวันเดัยวทราบผลการติดเชื้อ หมายถึงมาถึง รพ.ถึงมือแพทย์ในอาการหนักรุนแรงและเสียชีวิตในวันเดัยวกัน อีก 7 รายเสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์หลังทราบเชื้อ

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ทิศทางกราฟผู้ป่วยรายใหม่เริ่มปักหัวลง ส่วนปัจจัยเสี่ยงขณะนี้สถานบันเทิงลดลงทั้งประเทศ แต่การติดเชื้อมักอยู่ในส่วนของครอบครัว เพื่อน ผู้ดูแลใกล้ชิด เดินทางไปในตลาด ชุมชน และขนส่ง ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น การรวมกลุ่มในสถานที่แออัด สถานที่ชุมชน ไปร่วมงานศพ งานประเพณี งานบวช ทำงานในสถานที่เดียวกัน มีการจัดประชุม รับประทานอาหารร่วมกัน มีการรายงานผู้ลักลอบเล่นพนัน บ่อนไก่ สนามชนโค เปิดโต๊ะสนุ้ก มีรายงานเป็นระยะ รวมถึงอาชีพเสี่ยง บุคคลสาธารณะ ตำรวจ บุคลากรทางการแพทย์ ทหาร ที่มีภาระงานสัมผัสคนหมู่มาก อยู่ในสถานที่เสี่ยง สถานที่ที่มีรายงานปัจจัยเสี่ยง ทั้งทัณฑสถาน ห้างสรรพสินค้า และธนาคาร

ทั้งนี้ เชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย ไม่ได้พบแค่อินเดียเท่านั้น ยังพบในปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาลด้วย ซึ่งที่ประชุม ศบค.วันนี้  มีการรายงานผู้เดินทางจากปากีสถานตรวจพบสายพันธุ์อินเดียเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยรายนี้เป็นหญิงไทยอายุ 42 ปี ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ มีภูมิลำเนาก่อนหน้านี้อยู่ที่ปากีสถานเดินทางถึงไทยตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. โดยเดินทางแวะพักเครื่องที่ดูไบ

"หญิงรายนี้เดินทางมาพร้อมลูกชาย 3 คน อายุ 4 ปี 6 ปี และ 8 ปี เมื่อเดินทางมาตามระบบก็ได้รับการจัดสรรให้อยู่ในสเตทควอรันที โดยผู้หญิงท่านนี้พักอยู่ร่วมกับลูกชาย 4 ปี ส่วนลูกชาย 6 ขวบ 8 ขวบ ไปอยู่อีกห้องหนึ่ง ทั้งนี้ วันที่ 26 เม.ย.พบว่าการตรวจครั้งที่ 1 ผู้หญิงท่านนี้รวมทั้งลูกอายุ 4 ปี เป็นผลบวก ขณะที่ลูกชายอีก 2 คนผลเป็นลบ" พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า วันที่ 9 พ.ค. กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังสายพันธุ์อินเดีย จึงได้ตรวจรหัสพันธุกรรม โดยส่งตรวจศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ก็พบยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย" พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การระบาดของสายพันธุ์อินเดียเริ่มที่อินเดียตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว และตอนนี้เริ่มมีการรายงานไปยังปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล นอกจากนี้ ประเทศทางยุโรป คือ อังกฤษและเยอรมนีก็มีรายงานสายพันธุ์อินเดีย ที่อเมริกาและเอเชียมีรายงานแล้วที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และบาห์เรน ทำให้ในที่ประชุม eoc ของกระทรวงสาธารณสุข มีการหารือว่ามีความเป็นห่วงในเรื่องของเชื้อกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นแล้วหรือสายพันธุ์ที่อาจจะมาพัฒนาเกิดการกลายพันธุ์ในประเทศไทยด้วย

"ที่ประชุมได้กำชับว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและร่วมทำงานกับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย กรมควบคุมโรค ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสูงสุดในเรื่องของเชื้อกลายพันธุ์ และในส่วนของประเทศที่จะมีการประกาศในเรื่องชะลอการออกใบอนุญาตเข้าประเทศ (coe) เพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ขอแค่ติดตามประกาศของกระทรวงการต่างประเทศในระยะนี้ด้วย" พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ช่วง 24 ชั่วโมง มีรายงานสกัดกั้นการลักลอบมาถึง 104 ราย ทั้งพรมแดนลาว เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย บุคลากรมีการลาดตระเวนและตรวจจับได้ ส่วนวันที่ 1-10 พ.ค. มีลักลอบถึง 1,126 คน เน้นย้ำฝ่ายปกครองป้องกันการเข้าประเทศทางชายแดน สิ่งสำคัญขอความร่วมมือคนไทยกลับบ้าน ทำตามระบบมาตรฐาน จะเกิดความปลอดภัยไม่แพร่เชื้อ แต่คนลักลอบจริงๆ อาจไม่ร่วมมือ ขอประชายน ผู้นำชุมชน ขอให้ช่วยเป็นหูเป็นตา พบเห็นให้รีบแจ้ง มีการพูดคุยระดมฉีดวัคซีนบุคลากรด่านหน้า เช่น ด่าน ตำรวจ ทหาร ที่ทำงานตะเข็บชายแดน