ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ยืนยัน! ตรวจ-รักษาโควิดฟรี ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง และแพทย์พิจารณาแล้วว่าควรเข้ารับการตรวจ โดยต้องรักษาไปตามกระบวนการที่ รพ.จัดให้ แต่หากไปตรวจเองโดยไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และไม่ได้พบหมอมาก่อน เลือกขออยู่ห้องพิเศษหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ต้องจ่ายเอง

วันที่ 12 พ.ค. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความรุนแรงมากกว่ารอบก่อนหน้านี้ และทาง สปสช. ได้ยืนยันมาตลอดว่าคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทุกคนมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองและรักษาฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน รวมทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เน้นย้ำหลายครั้งว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถเก็บเงินค่าบริการจากผู้ป่วยโควิดได้ โดยให้มาเก็บที่ สปสช. แทน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการใช้สิทธิตรวจและรักษาโควิด-19 ฟรี โดยจากข้อมูลของสายด่วน 1330 พบว่ามีประชาชนบางส่วนที่ได้ยินว่า สปสช.ให้ตรวจฟรีจึงเดินทางไปตรวจ แต่พอคัดกรองแล้วไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็โดนเรียกเก็บเงิน ซึ่งขณะนี้มีกรณีลักษณะนี้ร้องเรียนเข้ามากว่า 700 กรณี ดังนั้นจึงขอชี้แจงอีกครั้งว่าผู้ที่สามารถตรวจคัดกรองฟรีต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหมายถึง คนที่เคยเดินทางไปหรือพักอาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาด มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือมีอาการตามเกณฑ์ที่กำหนด และต้องให้หมอสั่งตรวจ เป็นต้น อีกทั้งการออกตรวจคัดกรองเชิงรุกก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน

“หากสงสัยว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้วเล่าประวัติกับแพทย์หรือพยาบาลให้วินิจฉัยว่าเข้าข่ายให้ตรวจได้จึงเข้าเงื่อนไขตรวจฟรี แต่ในกรณีที่บางคนเข้าไปตรวจแบบ drive thru หรือขับรถเข้าไปตรวจ ไม่ได้พบแพทย์ก็ไม่เข้าเกณฑ์ตรวจฟรี ดังนั้นจึงต้องเป็นดุลยพินิจของแพทย์” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า นอกจากนี้แล้วก็ยังเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่เข้าข่ายข้างต้นแต่อาจมีอาการไม่สบายใกล้เคียงกับโรคโควิด-19 หรือรู้สึกไม่สบายใจ ไม่มั่นใจว่าตัวเองอยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ฟรี โดยให้ไปพบแพทย์ก่อน หากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรเข้ารับการตรวจ ก็สามารถไปตรวจได้ฟรี เช่นกัน เพราะเป็นดุลยพินิจของแพทย์

"ที่เราต้องให้ไปพบแพทย์ก่อนก็เพราะว่าเราอยากให้อย่างน้อยได้เจอหมอ ให้หมอได้ซักประวัติ ได้ประเมินความเสี่ยงในเบื้องต้นก่อน มันไม่ควรมีเหตุการณ์ที่คนไข้เดินไปเอง ขอตรวจเอง กลับมาบ้านเอง" นพ.จเด็จ กล่าว

ทั้งนี้ กรณีที่ไปรับบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ drive thru เองก็จะไม่สามารถใช้สิทธิตรวจฟรีเช่นกัน เพราะไม่ได้พบแพทย์เพื่อซักประวัติตรวจสอบความเสี่ยงมาก่อนนั่นเอง รวมทั้งกรณีที่ไปสมัครงานหรือบริษัทที่ทำงานให้ไปตรวจเพื่อเอาผลการตรวจไปใช้รับรองการเข้าทำงาน ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิตรวจฟรีได้เช่นกัน และขอความร่วมมือไปยังบริษัทต่างๆไม่ควรมีข้อกำหนดในลักษณะนี้ด้วยเพราะเป็นการละเมิดสิทธิ

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า นอกจากกรณีการตรวจคัดกรองแล้ว กรณีตรวจพบว่าติดเชื้อและเข้ารับการรักษาฟรีก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นกัน ซึ่งการจะได้รับการรักษาฟรีคือรักษาไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่โรงพยาบาลหรือแพทย์พิจารณาจัดการให้ แต่บางรายพบว่าอยากได้สิ่งที่เป็นการอำนวยความสะดวก เช่น เลือกไปรับบริการโรงพยาบาลเอกชนแล้วถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลสนาม แต่ไม่อยากไปและขอเลือกอยู่ห้องเดี่ยวห้องแยกในโรงพยาบาลเอกชน จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิในการรักษาฟรีเพราะเป็นการเลือกรับบริการเอง ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเองทั้งกระบวนการรักษา

ยกตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยรายหนึ่งไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยสอบถามว่าใช้สิทธิรักษาฟรีของรัฐบาลได้หรือไม่ โรงพยาบาลแจ้งว่าหากใช้สิทธิรัฐบาลจะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม หากชำระเงินเองถึงจะมีห้องแยกให้ ผู้ป่วยเลือกที่จะชำระเงินเองเพื่อให้ได้อยู่ห้องแยกเดี่ยวโดยรักษาตัวในโรงพยาบาล จนรักษาเสร็จและกลับมาพักที่บ้านแล้ว ได้รับแจ้งว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องจ่ายเอง ก็มาร้องเรียนขอเงินคืนเพราะติดใจว่ารักษาฟรีทุกที่ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น

"อยากขอย้ำว่าการจะจัดส่งไปที่ไหนหรือจัดการรักษาให้แบบใด ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณาตามอาการของผู้ป่วย ถ้าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อยก็ไปโรงพยาบาลสนาม ถ้าอาการหนักก็ต้องอยู่ในโรงพยาบาล อยู่ในห้องไอซียูก็ว่ากันไป ซึ่งในภาวะแบบนี้ โรงพยาบาลหลายๆแห่งเตียงค่อนข้างหนาแน่น ถึงแม้อยากจะเลือกหรือมีเงินจ่ายก็ใช่ว่าจะได้ตามที่ต้องการเสมอไป ดังนั้น ขอความร่วมมือผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำที่แพทย์หรือโรงพยาบาลจัดให้ มันอาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้านหรืออยู่ห้องพิเศษ แต่ตอนนี้เราอยู่ในภาวะวิกฤติ การจัดการต่างๆมุ่งไปที่การควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดและบริหารจัดการการรักษาเพื่อไม่ให้เกินศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขของเราจะรองรับได้เป็นหลัก" นพ.จเด็จ กล่าว