ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” แจงคืบหน้านำเข้าวัคซีนโควิด 19 ย้ำ แอสตราฯ ยังเป็นวัคซีนหลัก ไฟเซอร์ ฉีดเด็ก ส่วนซิโนแวค เป็นตัวสนับสนุน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ว่า ต้องเข้าใจว่า เรื่องวัคซีนมีความซับซ้อน ทั้งผู้ผลิตและรัฐบาลต้องเข้าใจร่วมกันว่าวัคซีนนั้น ใช้ในสถานการณ์เร่งด่วน วัคซีนเกิดขึ้นมาจากการศึกษาทดลองอย่างเร่งรีบ และผู้ผลิตจะไม่รับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เมื่อรับทราบเงื่อนไขตรงนี้ จึงจะมาคุยกันเรื่องราคา และการจัดส่ง ทั้ง 2 ฝ่ายจะทราบความต้องการระหว่างกัน เมื่อตกลงกันได้ จึงจะนำมาซึ่งการจัดซื้อจัดหาต่อไป

ล่าสุดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์สัน ผ่านการขึ้นทะเบียนกับทาง อย.แล้ว แต่ทางผู้ผลิตยังยืนยันว่าจะจำหน่ายให้กับทางภาครัฐเท่านั้น ซึ่งทางกรมควบคุมโรคกำลังเจรจาจัดหาตามกระบวนการ หากการหารือราบรื่น ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับเงื่อนไขกันและกัน ทางผู้ผลิตรายงานว่าจะส่งวัคซีนได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้

ด้านวัคซีนของโมเดอร์นา ก็ผ่านการขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว ทางผู้ผลิต ยืนยันว่าจะซื้อขายผ่านรัฐเท่านั้น โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ภาคเอกชน ทั้งนี้ หากภาคเอกชน ต้องการวัคซีนของโมเดอร์นา ให้ไปหารือกับตัวแทนจำหน่าย แล้วแจ้งความต้องการมายังภาครัฐ ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง แล้วองค์การเภสัชกรรม จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้ หากทุกอย่างลงตัว ก็น่าจะได้วัคซีนในไตรมาส 4 เช่นเดียวกัน

สำหรับวัคซีนของแอสตราเซนเนกา นี่คือวัคซีนหลักของไทย ซึ่งมีสายการผลิตในประเทศ ผู้ผลิตยืนยันแล้วว่าจะส่งให้ไทยในเดือนมิถุนายนนี้แน่นอน ทั้งนี้ หากโรงงานในไทยเกิดปัญหา ทางผู้ผลิต ต้องหาวัคซีนมาส่งให้ไทยตามสัญญา ขณะที่ซิโนแวค ไทยนำเข้ามาเพื่อแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วนเมื่อช่วงต้นปี 2564 และสั่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีวัคซีนที่เพียงพอกับความต้องการ

วัคซีนของไฟเซอร์ ไทยให้ความสำคัญ การเจรจามาถึงขั้นตอนที่ภาครัฐ และผู้ผลิต เข้าใจเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายแล้ว หากสั่งซื้อ จะส่งได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ การที่ไทยกลับมาจริงจังกับไฟเซอร์ เพราะเป็นวัคซีนที่สามารถให้บริการแก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ หากสั่งเข้ามาได้สำเร็จ การให้บริการจะครอบคลุมคนไทยมากยิ่งขึ้น ขณะที่วัคซีนสปุ๊ตนิก วี ของรัสเซีย เพิ่งได้เริ่มต้นเจรจา และพร้อมขึ้นทะเบียน เมื่อได้รับเอกสารครบถ้วน วัคซีนที่นำเข้ามาให้บริการประชาชน จะต้องผ่านการพิจารณาในเรื่องประสิทธิภาพความปลอดภัยจาก อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการตรวจสอบวัคซีน ที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล