ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพมหานคร แถลงรายละเอียดการควบคุมการระบาดพื้นที่ กทม. และการเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิดในพื้นที่ ทั้งกทม. ทั้งออนไซต์ ใช้ระบบการจองเป็นหลัก ขณะเดียวกันยังเปิดช่องทางร้านสะดวกซื้อช่วยจอง พร้อมแจงรายละเอียดเพิ่มสัปดาห์หน้า คาดดีเดย์ 7 มิ.ย. 2564 เริ่มฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 พ.ค. 2564 ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และพญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมแถลงข่าว Online สรุปการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Cisco Webex

ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดในแคมป์ก่อสร้าง และกลุ่มแรงงานต่างด้าว ว่า การจัดการแคมป์ก่อสร้าง เรามีการตรวจเชื้อ 100เปอร์เซ็นต์ แบ่งออกเป็นคนติดเชื้อ โดยส่งรพ.ให้มากที่สุด ส่วนคนไม่มีอาการ มีการจัดพื้นที่แยกส่วน แล้ว 14 วันก็มาตรวจอีกครั้ง หากมีภูมิคุ้มกันขึ้นก็จะนำเขาออกมาเลย แต่หากยังไม่มีก็จะมีการใช้วัคซีนฉีด มี 3 ไซต์หลักติดเชื้อมาก คือ หลักสี่ตรวจ 100 เปอร์เซ็นต์ และส่งรพ.เกือบหมด เหลือคนอาการน้อยก็จะอยู่ในพื้นที่แยกกักบางส่วนแต่ไม่มาก และอีก 2 แคมป์ที่วัฒนาเข้ารับการรักษาหมดแล้ว มีกักเฉพาะคนที่ตรวจแล้วไม่ติด เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ในเรื่องหลักสี่เราทำการตรวจเชิงรุกชุมชนรอบข้าง 6 ชุมชน เราตรวจมาวันที่ 4 แล้วและคาดว่า 1-2 วันจะตรวจครบทั้งหมด

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า เจ้าของสถานประกอบการ ไซต์ก่อสร้างได้เอาคนงานมาตรวจ และช่วยเหลือการกักตัว การดูแลในแคมป์ก่อสร้างอาจไม่เหมือนทั่วไป โดยมาตรการการใช้แคมป์ก่อสร้าง ในวันพรุ่งนี้ทางกทม.จะเชิญแคมป์ก่อสร้างมาคุยกัน โดยหากป่วยให้ออกมารักษา แต่หากไม่ป่วยให้อยู่ในพื้นที่ใช้หลักการบับเบิ้ล แอนด์ซิล และ 14 วันต้องตรวจอีก เราจะเน้นการจำกัดพื้นที่ไม่ให้ออกมาข้างนอก ทั้งนี้ ในกรณีแคมป์คนงานก่อสร้างน่าจะดูแลกันได้

ส่วนคลัสเตอร์คลองเตยมีปริมาณสูง 3 ชุมชน ซึ่งพอจะควบคุมได้ เพราะได้รับความร่วมมือจากประธานชุมชน ทางวัด และนำผู้ติดเชื้อมารักษา และยังได้รับความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการเปิด รพ.สนาม เมื่อชุมชนพอดำเนินการได้ ขณะนี้เรามาโฟกัสตลาด โดยใช้หลักการบับเบิ้ล แอนด์ซิล เช่นกัน เพราะคนเป็นหมื่นคน เป็นแรงงานเข็นผักในตลาด การไปตรวจเยอะๆ อาจไม่ก่อประโยชน์ จึงใช้วิธีการบับเบิ้ลแอนด์ซิลด์ เราไม่ได้ปิดล็อก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จำกัดการเคลื่อนย้ายให้น้อยที่สุด

“ชุมชนกทม.มี 2 พันกว่าแห่งคงไม่สามารถตรวจเชื้อเชิงรุกได้หมด และเราจะพบว่าเป็นคลัสเตอร์มากกว่า แต่เราก็จะใช้วิธีเก็บน้ำลายในชุมชนเขตสีแดง เป็นการสุ่มตรวจ หากพบว่ามีสถานการณ์น่าห่วงเราจะเข้าไป ซึ่งขณะนี้ดำเนินการอยู่แล้ว” พญ.ป่านฤดี กล่าว

ร.ต.อ. พงศกร กล่าวเสริมพื้นที่คลองเตยว่า หลักการเราใช้การควบคุมแรงงานแต่ละกลุ่ม จำกัดการเคลื่อนย้าย เพราะผู้ประกอบการให้ความร่วมมือดี และเรามีการนำส่งอาหารได้ เมื่อเราตรวจไปเยอะแล้ว เราก็ใช้หลักการกักตัว 14 วัน หากมีอาการตรวจเจอเชื้อก็เข้าสู่การรักษา จากนั้นตรวจแอนติบอดี หากไม่มีภูมิก็ฉีดวัคซีน ขณะนี้ในคลองเตยตรวจไปแล้ว 34,130 ราย เจอเชื้อ 1,555 ราย ซึ่งเข้ารักษาแล้ว ส่วนการตรวจเชื้อโควิดชุมชนอื่นๆ ตอนนี้เราต้องเน้นที่พื้นที่มีไฟ มีการระบาดเยอะและเร็วก่อน แต่หากไม่มีการระบาดเราก็จะนำกำลังไปตรวจสุ่มตรวจเชิงรุก หากพี่น้องชุมชนไหนมีความเสี่ยง เรายืนยันว่า ไปตรวจทุกชุมชน

“ กทม.ยืนยันว่า เราต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งมาตรการที่ออกมา หลายคนสงสัยว่าควบคุมโรคได้จริงหรือไม่ ซึ่งหลักการทางการแพทย์ยืนยันว่า หากไม่ทำอะไร จะติดเยอะกว่า ดังนั้น ตัวเลขติดเชื้อในกทม.ที่เห็น หากไม่มีมาตรการจะเยอะกว่านี้ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ประกอบการที่เราคุมได้ 2 รอบ คือ เราไม่มีปัจจัยเรื่องวัคซีน แต่ตอนนี้เรามีวัคซีนที่จะทำการฉีดในเดือนมิ.ย.-ก.ค. จึงคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะเรามีมาตรการเข้มข้นที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ และมีวัคซีนที่หากสามารถเร่งฉีดได้รวดเร็ว” โฆษก กทม. กล่าว

กทม.เปิดฉีดวัคซีนโควิดแบบออนไซต์ เริ่ม 7 มิ.ย.คาดเป็น“แอสตราเซเนกา”

พญ.ป่านฤดี กล่าวถึงการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด ว่า ขณะนี้ฉีดไปแล้วจำนวน 519,022 โดส ขณะนี้วัคซีนที่ได้มาเรามีแผนใช้หมดแล้ว ที่จบแล้วคือ บ่อนไก่ ดุสิต ฉีดไปแล้ว นอกจากนี้ จะมีการเปิดบริการจุดฉีดวัคซีนเริ่ม 7 มิ.ย. และทางหอการค้าได้สนับสนุนสถานที่เยอะมาก โดยคัดเลือกมา 25 สถานที่ และมีรพ.ทุกภาคส่วนช่วยตรงนี้ ทั้งรพ.สังกัดคณะแพทย์ กลาโหม กรมการแพทย์ เอกชน รวมทั้งของสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย อย่างไรก็ตาม จะมีการอัปเดตชื่อสถานที่จุดฉีดวัคซีนเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนที่มีจำนวนจำกัด ณ ขณะนี้ จะฉีดให้บุคลากร อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ที่มาช่วย ผู้ขับขี่สาธารณะ ครู ก่อนเตรียมพร้อมฉีดให้ประชาชนเริ่ม 7 มิ.ย.นี้ ส่วนวัคซีนที่ใช้ ขณะนี้มีซิโนแวค และแอสตราเซเนกา และการบริการ 7 มิ.ย. น่าจะเป็นแอสตราเซเนกา

ร.ต.อ. พงศกร กล่าวถึงแผนการได้รับวัคซีนโควิด 5 ล้านโดส ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในกทม.ค่อนข้างมาก จึงมีการเริ่ม 2.5 ล้านโดสในเดือนมิ.ย.และก.ค. ซึ่งจะครอบคลุมประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป 5 ล้านโดสในเข็มแรก โดยการจะทำได้ต้องแบ่งหลายๆหน่วยช่วยกัน ซึ่งจะอยู่ในกทม.เราวางแผนว่า มีศักยภาพในการฉีด 8 หมื่นโดสต่อวัน อันนี้ยังไม่รวมตัวเลขการฉีดที่มหาวิทยาลัยต่างๆ และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงคมนาคมทำ ดังนั้น หากกทม.ได้รับจัดสรรวัคซีนมาเท่าไหร่เรามีศักยภาพฉีดได้เต็มที่ ทั้งนี้ จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปอายุ 18 -59 ปี ที่ไม่สามารถใช้ระบบหมอพร้อมได้ก็มาใช้ตรงนี้ได้ โดยภายในสัปดาห์หน้าจะแถลงรายละเอียด เนื่องจากในหมอพร้อม จะให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังฉีดก่อน

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า รพ.จะเน้นฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งมีการจองประมาณ 4 แสนในแต่ละรพ. ซึ่งสำนักการแพทย์เรามี 11 รพ. ก็มีการจองสิทธิฉีดเรียบร้อยแล้ว

ร.ต.อ. พงศกร กล่าวย้ำว่า ในหลักการต้องการฉีดแก่ทุกคนใน กทม. รวมถึงคนที่มีความเสี่ยงต้องได้รับการฉีดก่อน แต่เนื่องจากวัคซีนได้รรับมาจำกัด จึงต้องฉีดให้คนที่ฉีดมากกว่า โดยใช้หลักการคือ ใครขนคนมากๆ ต้องได้ก่อน คือ ขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ บีทีเอส เอ็มอาร์ที เมื่อหมดก็จะค่อยๆขยายขนคนน้อยลง จากนั้นจึงขยายไปยังกลุ่มขนของ ก็พร้อมเปิดกว้างเรื่อยๆ หากได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น

เปิดช่องทางจองฉีดวัคซีนโควิดพื้นที่กทม. ใช้ร้านสะดวกซื้อช่วยเหลือ

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า สำหรับการเปิดเว็บไซต์ของกทม. ในการจองฉีดวัคซีนโควิดนั้น อันนี้จะเป็นเว็บไซต์หลัก ให้เข้ามาจองผ่านเว็บไซต์ของกทม.ได้ เพราะจะเป็นศูนย์กลางทางการจอง ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลกับแอปฯต่างๆ ขณะนี้เราขอให้ร้านสะดวกซื้อหลายๆร้าน มาช่วยด้วยการจองฉีดวัคซีนผ่านร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้า รพ. อย่างไรก็ตาม ในวันอังคารหน้าเราจะแถลงอีกครั้ง ซึ่งขอย้ำว่าหลักการจะเปิดจองคนอายุ 18-59 ปีในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ 

เมื่อถามว่ากรณีการจองฉีดวัคซีนโควิดมีช่องทางอย่างไร พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า เราจะเน้นการจองฉีดวัคซีนเป็นหลัก จะไม่ใช่ว่าเดินมาแล้วรอฉีด เพราะอาจไม่ได้ฉีด แล้วจะผิดหวัง จึงเปิดให้จองทั้งผ่านหมอพร้อม และการจองผ่านร้านสะดวกซื้อ แต่ที่น่ายินดีคือ มีองค์กร บริษัทหลายแห่งมาจองฉีดวัคซีนเยอะมาก ซึ่งก็จะมีการแบ่งสัดส่วนตรงนี้