ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศิริราชจับมือกทม. สภาหอการค้าไทย เพิ่มจุดฉีดวัคซีนโควิด19 นอก รพ. ทั้งไอคอนสยาม และทรู ดิจิทัลพาร์ค ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามที่ กทม. กำหนด เช่น พนักงาน ครู คนทำงานพบปะผู้คน อาชีพบริการ หรือประชาชนชุมชนแออัด รวมถึงการวอล์ก อิน หรือออนไซต์ ย้ำ! คนละส่วนกับการลงทะเบียนในหมอพร้อม คาดว่าจะดำเนินการ 6 เดือนไปจนถึงสิ้นปี

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)ศิริราช แถลงข่าว “ศิริราชรวมพลังภาครัฐ เอกชน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน” ภายใต้ความร่วมมือ รพ.ศิริราช ร่วมกับ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) สภาหอการค้าไทย เพิ่มจุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ที่ ไอคอนสยาม และ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีสุขภาพแข็งแรง หรือมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนน้อย ให้สามารถเข้าถึงการรับวัคซีนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2563 ขยายวงกว้างมาถึงขณะนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะจนถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การเกิดขึ้นของวัคซีนโควิด-19 ทำให้ความปลอดภัยจากโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายคนอาจยังไม่มั่นใจหรือยังไม่แน่ใจว่า วัคซีนจะมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ดังนั้น ต้องเรียนว่าเชื้อโควิด-19 เป็นไวรัสที่หากอยู่ในอากาศอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จะสลายในไม่กี่นาที และไม่สามารถแบ่งตัวเองได้ จะต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตในการแบ่งตัว เมื่อเข้ามาสู่คน แต่หากคนนั้นมีภูมิคุ้มกันมาจัดการกับเชื้อทันที ไวรัสก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตในคนได้ และเชื้อที่ล่องลอยอยู่ในอากาศก็จะสลายไป ทั้งนี้ การทำให้โควิด-19 หายไปจากประเทศไทยคือ ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันให้มาก เกิดจาก 2 วิธี คือ วิธีแรกการติดเชื้อแล้วไม่เสียชีวิต ซึ่งจะเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นภายหลัง แต่ในทุก 100 คนที่ติดเชื้อพบว่ามี 2.1 คนที่เสียชีวิต ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเราจะอยู่ใน 2% หรือ 98% ที่รอดชีวิต แต่อีกวิธีคือการฉีดวัคซีน

“โดยทั่วโลกฉีดกันไปกว่า 1,300 ล้านโดส อัตราเสียชีวิตจากวัคซีนน้อยมาก อัตราการเกิดภาวะรุนแรงจากวัคซีน พบ 4 ต่อ 1 ล้านการฉีด แต่สำหรับประเทศไทยที่มีอุบัติการเกิดโรคน้อยกว่าคนตะวันตกถึง 25% ดังนั้น ตัวเลขของเมืองไทยในโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจะน้อยกว่าคนตะวันตกอย่างมาก เช่น ภาวะลิ่มเลือด เกิดได้ 1 ต่อ 1 ล้านการฉีด ซึ่งตัวเลขระหว่าง 1 ต่อ 1 ล้านกับ 2 ต่อ 1 ร้อย มันต่างกันเยอะมาก ดังนั้น การจะหยุดโควิด-19 ได้ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วและมากที่สุด สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ทุกคนในประเทศต้องช่วยกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหยุดโรคระบาดครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นครั้งสำคัญที่คนไทยจะร่วมกันพิทักษ์ชาติไทย ไปพร้อมพร้อมกัน” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เรามีการคำนวณคนไทยที่ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งหากให้ รพ. ฉีดกันเอง ก็เชื่อว่าจะไม่ทัน เราจึงต้องหาสถานที่ฉีดนอกสถานพยาบาล อำนวยความสะดวกประชาชนให้มากที่สุด แต่เน้นย้ำว่า ระบบความปลอดภัยทุกอย่างจะเหมือนกับที่ฉีดในสถานพยาบาลทุกประการ

รศ.นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า รพ.ศิริราช เปิดบริการฉีดวัคซีนมาร่วม 2 เดือน เริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ในรพ. ครอบคลุมไปแล้ว 80% แม้วัคซีนมีความปลอดภัยสูงมาก แต่บางกลุ่มที่มีโรคร่วม ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องมีแพทย์เฉพาะทางในการฉีด ทาง รพ.ศิริราช จึงเปิดจุดบริการวัคซีน 2 จุด ซึ่งจะให้บริการต่อไป แต่เพื่อการฉีดให้ครอบคลุมประชากรอย่างรวดเร็ว รพ.ศิริราช จึงร่วมมือกับสมาคมหอการค้าแห่งประเทศไทย ไอคอนสยาม และทรู ดิจิทัล พาร์ค จัดพื้นที่ฉีดวัคซีนนอกรพ. สำหรับประชาชนกลุ่มอาชีพเสี่ยง และประชาชนที่ทำงานเป็นกลุ่มก้อนใน กทม. ทั้งนี้ ลักษณะการฉีดวัคซีนนอก รพ. จะมีขั้นตอนแบบเดียวกับใน รพ. มีความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้ เช่น คัดกรองสุขภาพก่อนรับวัคซีน สังเกตอาการ 30 นาทีหลังฉีด และลงบันทึกนัดหมายครั้งต่อไป

“ข้อดีของจุดฉีดนอกรพ. จะทำให้ประชาชนเข้าถึงง่ายและสะดวก เท่าที่เราทดสอบโดยอาสาสมัคร พบว่าการไปฉีดที่ห้าง มีความสะดวกสบายมากกว่าใน รพ. ฉะนั้น เราคิดว่าหากได้รับจัดสรรวัคซีนจาก กทม. แล้วก็จะสามารถเปิดอย่างเป็นทางการปลายเดือนนี้ ความร่วมมือกับสํานักอนามัย กรุงเทพมหานคร เป้าหมายคือประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามที่ กทม. กำหนด เช่น พนักงาน ครู คนทำงานพบปะผู้คน อาชีพบริการ หรือประชาชนชุมชนแออัด รวมถึงการวอล์ก อิน( walk in) หรือลงทะเบียน ณ จุดบริการ(on site registration) หากประชาชนที่ไปลงทะเบียนแล้วขณะนั้นมีวัคซีน เพียงพอก็สามารถฉีดได้ทันที ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกับการลงทะเบียนในหมอพร้อม คาดว่าจะดำเนินการ 6 เดือนไปจนถึงสิ้นปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในกทม.” รศ.นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าไทยฯ มีความร่วมมือกับเอกชน และกทม. เพื่อฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยต้องขอขอบคุณ รพ.ศิริราช อย่างมากที่ให้ความเอื้อเฟื้อ สนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในกทม. ซึ่งสภาหอการค้าฯ ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเอกชน อย่างเช่น ทรู ดิจิทัล พาร์ค ไอคอนสยาม หรือ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่จะมีการแถลงรายละเอียดในวันที่ 25 พ.ค. นี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม กทม.และสภาหอการค้าเลือกฯ ตั้งจุดบริการวัคซีนนอก รพ. ใน 14 แห่ง โดยดำเนินการฉีดไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลลาดพร้าว สามย่านมิตรทาวน์ เดอะมอลล์บางกะปิ บิ๊กซีบางบอน และสยามพารากอน โดยจะมีการขยายอีกไปอีก 11 แห่งรวมเป็น 25 แห่งในเดือน มิ.ย. เป็นต้นไป

นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า ไอคอนสยาม มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบการระบาดโควิด-19 ซึ่งไอคอนสยาม พร้อมเป็นหน่วยบริการฉีด โดยมีเป้าหมายวันละ 1,000 คน โดยได้จัดสรรพื้นที่ ไอคอนสยาม อาร์ต สเปซ ชั้น 8 มีที่จอดรถกว่า 5 พันคัน สามารถเดินทางได้หลายวิธี ทั้งนี้ ไอคอนสยาม ร่วมกับทิพยประกันภัย ได้จัดเตรียมประกันการแพ้วัคซีน มอบให้ผู้ที่มาฉีดวัคซีนที่ ไอคอนสยาม และลงทะเบียนรับสิทธิประกันภัยได้ฟรีตลอดระยะเวลาของโครงการ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์พร้อมสนับสนุนภารกิจฉีดวัคซีนนอก รพ. ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท101/1 โดยพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดคิว ลงทะเบียน จุดพักสังเกตอาการ โดยมั่นใจว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค จะเป็นจุดฉีดวัคซีนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เดินทางสะดวก เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีปุณณวิถี และมีที่จอดรถมากกว่า 1,300 คัน คาดว่ารองรับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการได้ราววันละ 1,000 คน