ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยข้อมูลจากอังกฤษ พบ “วัคซีนแอสตราเซเนกา” ครอบคลุมโควิด “สายพันธุ์อินเดีย”  ส่วนซิโนแวค น่าจะยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์อินเดีย ต้องตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ย้ำหลายประเทศเริ่มเจอสายพันธุ์นี้ ไทยจึงมีโอกาสพบหลุดรอดเข้ามา ขณะเดียวกันข้อมูลการแพร่กระจายเชื้อ ความรุนแรงของโรค ไม่มีข้อบ่งชี้ว่ามากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ พร้อมหาต้นตอสายพันธุ์อินเดีย

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 21 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการค้นพบสายพันธุ์อินเดียในแคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่ ว่า โรคโควิด เป็นเชื้อ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อู่ฮั่น จนขณะนี้มีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เราให้ความสนใจ คือ 1.กลายพันธุ์แล้วมีการแพร่ระบาดง่ายขึ้น 2. กลายพันธุ์แล้วทำให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือง่ายขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น และ3. กลายพันธุ์แล้วทำให้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพหรือป้องกันโรคไม่ดี โดยสายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตามอง คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และเมื่อเช้ามีการพูดถึงสายพันธุ์สิงคโปร์ แต่ประเทศสิงคโปร์ปฏิเสธสายพันธุ์นี้ไปแล้ว

สำหรับ 4 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ที่ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการต่างๆ มีการถอดรหัสพันธุกรรม และรวบรวมข้อมูลและใช้หลักการทางระบาดวิทยาในการอ้างอิง ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ เนื่องจากระบาดรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีสายพันธุ์จีและสายพันธุ์ดั้งเดิมเล็กน้อย ส่วนสายพันธุ์อินเดีย ขณะนี้ระบาดมากในอินเดีย และพบในหลายประเทศ มีประเทศหนึ่งที่ถอดรหัสพันธุกรรมและพบคือ อังกฤษ รอบบ้านของไทยคือ มาเลเซีย ส่วนที่ระบาดที่สนามบินซางฮีในสิงคโปร์ ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่าสายพันธุ์อินเดีย ส่วนเมียนมาและกัมพูชายังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อว่ามีสายพันธุ์อินเดีย ดังนั้น ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะมีสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งจะมีการจับตาอย่างใกล้ชิด

“จากการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่พบการแพร่ระบาดโควิดที่แคมป์คนงานหลักสี่ และนำตัวอย่างทั้งหมด 61 ตัวอย่างตรวจหาสายพันธุ์ พบว่า ตรงกับสายพันธุ์อินเดีย 15 ตัวอย่าง หรือ 15 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี ทั้ง 15 รายส่วนใหญ่อาการน้อยรักษาอยู่ใน รพ. ในจำนวน 15 ตัวอย่างเราพบว่า เป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ส่วนอีก 3 คน เป็นผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านกับคนในแคมป์คนงาน จึงต้องมีการเร่งรัดสอบสวนควบคุมโรค” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สายพันธุ์นี้ที่มีข้อมูลมากสุด คือ จากประเทศอังกฤษ โดยหน่วยงานพับพิบเฮลท์อิงแลนด์ ซึ่งพบว่า สายพันธุ์อินเดียในเรื่องการแพร่กระจายโรคไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนความรุนแรงของโรคไม่มีข้อบ่งชี้ว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนการไม่ตอบสนองวัคซีนหรือดื้อต่อวัคซีน ก็พบว่า สายพันธุ์อินเดียไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนหลักที่เราจะใช้ คือ วัคซีนแอสตราเซเนกา  

นพ.โอภาส ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับสื่อมวลชนภายหลังการแถลงข่าว ว่า ตัวอย่างที่เห็นอย่างดี คือ อังกฤษใช้แอสตราฯ เป็นหลักก็พบว่าการระบาดของเขาลดน้อยลง ทั้งที่ประเทศอังกฤษมีทั้งสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์อังกฤษอยู่จำนวนมาก ส่วนวัคซีนของซิโนแวค จากข้อมูลของซิโนแวคเอง และจากที่เรารวบรวม และเทียบเคียงกับหลายประเทศ พบว่าน่าจะยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์อินเดีย ต้องตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถหาต้นตอได้หรือไม่ว่าสายพันธุ์อินเดียเข้ามาประเทศไทยได้ทางช่องไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า เราพบเชื้อสายพันธุ์อินเดีย ครั้งแรกเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน กรณีที่ผู้เดินทางมาจากปากีสถาน นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบว่ามีการระบาดของสายพันธุ์อินเดียในประเทศมาเลเซีย ส่วนเมียนมา และกัมพูชาไม่ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมมากนัก แต่เชื่อว่าน่าจะมีสายพันธุ์อินเดียอยู่ ก็มีโอกาสหลุดมาได้ทุกช่องทาง ดังนั้นเราต้องมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว แล้วนำไปเทียบเคียงกับรหัสพันธุกรรมของเชื้อที่พบในประเทศอื่นๆ จึงจะรู้ว่าเชื้อหลุดรอดเข้ามาได้อย่างไร แต่จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นทั้ง 15 ราย ไม่ได้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย อยู่ในประเทศไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในแคมป์คนงาน มีออกไปนอกแคมป์บ้าง ก็เป็นสิ่งที่เราต้องลงไปค้นหาต่อไป

ทั้งนี้ ในพื้นที่กทม.ขณะนี้ ศบค.ได้สั่งการให้ตรวจค้นหาในแคมป์คนงานทุกแห่ง ส่วนกระทรวงได้สั่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ให้มีการประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อทำการค้นหาเชิงรุกผู้ติดเชื้อตามแคมป์คนงาน ตลาด โรงงานงานต่างๆ ด้วย

เมื่อถามย้ำว่ามีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อที่ระบาดตามจังหวัดชายแดนพบเชื้อสายพันธุ์อินเดียหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการถอดรหัสพันธุกรรมตามจุดระบาดต่างๆ ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อะไร การป้องกันตัวเองยังคงเหมือนเดิม คือ การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญ ส่วนยารักษาโรคยังเป็นไปตามแนวทางเดิม คือการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่มีแนวทางในการให้ยาเร็วขึ้นในกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง

 

วันเดียวกัน ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงรายละเอียดการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย จำนวน 15 ราย ในแคมป์คนงานย่านหลักสี่ ว่า ในการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางทีมสอบสวนโรค กรมควบคุมโรค มีการสุ่มตรวจหาเชื้อและถอดรหัสสายพันธุ์ไวรัสเป็นระยะ ซึ่งเมื่อถอดรหัสของกลุ่มผู้ติดเชื้อจากแคมป์คนงานดังกล่าว ที่มีการติดเชื้อหลายร้อยราย พบว่า การตรวจหาเชื้อในวันเดียวกัน แต่มี 15 ราย เป็นสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งอยู่ในระยะที่สามารถแพร่โรคได้ ผู้ติดเชื้อกลุ่มดังกล่าว รักษาตัวอยู่ในห้องแยกความดันลบ(Isolation) ในโรงพยาบาล เพื่อแยกโซนกับผู้ป่วยรายอื่นที่มีการป่วยในระยะเวลาใกล้กัน 

ทั้งนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า สายพันธุ์อินเดียที่ตรวจพบในขณะนี้ มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วเหมือนกับสายพันธุ์อังกฤษ แต่ยังไม่มีผลกับยารักษาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังสามารถใช้ได้ปกติ