ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสฯ จุฬาฯ เผยอยู่ระหว่างศึกษาฉีดวัคซีนโควิดครบแล้วต้องฉีดซ้ำระยะเวลาเท่าไหร่ อยู่ระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี พร้อมติดตามข้อมูลการฉีดในหญิงตั้งครรภ์ 100 คน หลังหารือร่วมกรมอนามัยและราชวิทยาลัยสูติฯ แนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปให้รับการฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาวิชาการเรื่อง "ทางรอดของคนไทย...ด้วยวัคซีนป้องกันCOVID 19" ผ่าน Facebook สถานีวิทยุ มก.ว่า ประสิทธิภาพชนิดของวัคซีนเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะการทดลองทำคนละสถานที่ ความชุกประชากรความเสี่ยงไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดยังไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% เพียงป้องกันได้บ้าง แต่สำคัญคือป้องกันความรุนแรงของโรค ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบหลีกต่อวัคซีน ทำให้แอนติบอดี้จับไม่ได้ ซึ่งลดลงในทุกวัคซีน แต่สายพันธุ์นี้แพร่ระบาดไม่เร็ว ทั้งที่เป็นสายพันธุ์ที่เกิดก่อนอังกฤษ ดังนั้นหากแพร่ไม่เร็วน่าจะอยู่ในการควบคุมได้ สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้คือสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งแพร่พันธุ์เร็วกว่าอังกฤษก็มีโอกาสที่จะแพร่กระจายได้มากขึ้น

ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้บังคับ ใครไม่เคยเห็นคนไข้โควิดในไฮซียูและเป็นปอดบวมจะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร หากสถานประเทศไทยอยู่ในขาขึ้น คงนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องให้มีภูมิเร็วสุดทันที่ที่ได้ฉีด ไม่ต้องรีรอ ตัวอย่างอิสราเอลเริ่มฉีดวัคซีนกลางธ.ค.63 ใช้เวลา 4 เดือนโรคถึงสงบ อัตราตายในอิสราเอลจาก 50-60 คน วันนี้เหลือหลักหน่วย ไทยเริ่มรณรงค์เดือนนี้ทำใจได้ว่าอีก 4 เดือนกว่าจะเห็นผล ส่วนการออกกฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ ก่อนฉีดวัคซีน ข้อห้ามมีอย่างเดียวคือแพ้วัคซีนและต้องแพ้อย่างรุนแรง แต่เราไม่เคยฉีดวัคซีนนี้มาก่อนจึงไม่รู้แพ้หรือไม่ มีการบอกให้ดื่มน้ำวันละ 5-6 ลิตร ไม่รู้ทำไม แค่ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำก็พอเพียงแล้ว รวมถึงออกกำลังกายและดื่มกาแฟที่เป็นกิจวัตรประจำวันก็ทำปกติ ไม่ได้เป็นข้อห้าม เพียงแต่ไม่แนะนำเฉพาะคนที่ไม่เคยกินหรือกินแล้วใจสั่น ดำรงชีวิตอย่างไรให้ทำเหมือนเดิมไม่ต้องฝืน

“วัคซีนฉีดครบแล้ว ต้องฉีดซ้ำไหม อยู่ระหว่างศึกษาระหว่างหลัง 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนคนท้องฉีดได้หรือไม่นั้น เมื่อวานมีการหารือกับกรมอนามัยและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปให้รับการฉีดวัคซีน เพราะมีข้อมูลถึงหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดทำให้มีอาการรุนแรง ขณะนี้กำลังศึกษาและติดตามข้อมูลการฉีดในหญิงตั้งครรภ์100 คน” ศ.นพ.ยงกล่าว

นอกจากนี้ ไม่มีข้อห้ามฉีดในคนที่ให้นมบุตร ส่วนการฉีดวัคซีนข้ามชนิดยังไม่แนะนำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ในออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ มีการศึกษาระหว่างไฟเซอร์และแอสตราเซเนกาไม่เห็นผลภูมิขึ้นแตกต่าง แต่อาการข้างเคียงเข็มสองจะมากกว่าเป็นอาการ ไข้ ปวด เจ็บบริเวณที่ฉีดมากขึ้น เรากำลังศึกษาการฉีดไขว้ แต่มีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ฉีดเข็มแรกแพ้ แล้วต้องเปลี่ยน โดยเข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มสองเป็นแอสตราฯ พบ 1 เดือนต่อมามีภูมิต้านทานสูงมาก แต่ตอบไม่ได้กว่าสูงกว่าแอสตราฯ 2 เข็มหรือไม่ แต่สูงกว่าชิโนแวค 2 เข็ม ส่วนการศึกษาเข็มแรกฉีดแอสตราฯ 1 เดือนต่อมาฉีดชิโนแวคนั้น กำลังจะเจาะเลือดตรวจภูมิฯ วันที่ 4 มิ.ย.นี้ ขณะนี้วัคซีนมีหลายบริษัท จะศึกษาการไขว้ไปมาว่าจะเกิดผลอย่างไร

ส่วนวัคซีนทางเลือก คนทั่วไปยังไม่เข้าใจ แม้เราขึ้นทะเบียนโมเดอร์นาแล้ว แต่ทราบว่าจะเข้ามาหลังต.ค.จะได้หรือไม่ยังไม่รู้ รวมถึงจอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ขึ้นทะเบียนแล้ว เราพร้อมซื้อแต่อยู่ที่ต้นทาง เนื่องจากอาจต้องรอวันที่ 4 ก.ค.หลังวันชาติที่เขาจะฉีดประชากรให้ครบก่อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง