ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดรายละเอียดนำเข้าวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" นำเข้าล็อตแรก มิ.ย.นี้ 1 ล้านโดส ส่วนราคาขายอยู่ระหว่างพิจารณา ไม่เน้นกำไร เพื่อประชาชนราคาเบื้องต้นเข็มละไม่เกิน 1 พัน รวมค่าประกัน

 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่ห้อง CAT Auditorium อาคารสโมสร ชั้น 2 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวบูรณาการความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” 

 

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 และขึ้นตรงกับท่านนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ เพื่อให้การควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนหน้านี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศไทยในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ

สำหรับความร่วมมือการนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือเพื่อให้การกระจายวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างทั่วถึง โดย ณ ขณะนี้วัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ซึ่งเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรองแล้ว และราชวิทยาลัยฯได้มอบบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัดยื่นเอกสารกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งล่าสุดได้รับการอนุมัติแล้ว จากนี้ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะสามารถดำเนินการนำเข้าและบริหารจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มโดยหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการกระจายวัคซีนให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อพร้อมประกันวัคซีน ซึ่งจะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป ซึ่งราคาขอให้มีการประเมินราคาก่อน เพราะต้องรอปริมาณที่ชัดเจน เบื้องต้นจะมีการนำเข้าช่วงเดือนมิ.ย. ประมาณ 1 ล้านโดส 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเอกชนใดติดต่อซื้อ ศ.นพ.นิธิ  กล่าวว่า ขณะนี้มีสภาอุตสาหกรรม และทางบริษัท ปตท. แต่ยังมีรายอื่นๆด้วย แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา หลักๆหากเอกชนรายใดจะซื้อไปฉีด จะต้องมีการควบคุมราคา  เราเน้นเพื่อประชาชน ส่วนสถานที่ฉีด หากเป็นที่จุฬาภรณ์ก็ต้องแยกชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะปนกับส่วนที่ฉีดอยู่แล้ว ซึ่งคนละส่วนกัน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำในเรื่องราคานั้น ราชวิทยาลัยฯไม่หวังกำไร

เมื่อถามราคาเบื้องต้น  ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ราคาเบื้องต้นไม่เกิน 1 พัน รวมค่าประกัน แต่ราคานี้คือสำหรับเอกชนมาดีล แต่เมื่อซื้อไปแล้วห้ามขายต่อ และนำไปฉีดให้กลุ่มองค์กรตัวเองฟรี ห้ามคิดเงิน

ศ.นพ.นิธิ กล่าวอีกว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) มีชื่อทางการว่า “BBIBP-CorV” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่นเดียวกับ ซิโนแวค และ โควาซิน เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ 'ซิโนฟาร์ม' ถูกนำมาใช้กว่า 65 ล้านโดส ในประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน ฮังการี และเป็นวัคซีนชนิดแรกที่พัฒนาโดยประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO เป็นรายที่ 6 โดย “ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพ 79% สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จัดเก็บง่าย ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนอื่น นอกจากนี้ ยังมีแถบตรวจสอบบนขวดซึ่งเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิความร้อน จึงสังเกตได้ง่ายว่าวัคซีนปลอดภัยและใช้งานได้หรือไม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดหาวัคซีนทางเลือกเป็นจริง ประเทศไทยมีวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชนชาวไทยคู่ขนานกันไปกับที่รัฐจัดหาให้ 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย.กล่าวว่า วัคซีนซิโนฟาร์มของบริษัทไบโอเจนเนเทค จำกัด เป็นผู้นำเข้าได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นตัวที่ 5 ของไทย ซึ่งวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm)  เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine)  วัคซีนชนิดนี้กำหนดฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 ถึง 28 วันโดยวัคซีนนี้ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกแล้ว

อ่านต่อ : ทำความเข้าใจวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้แทนนำเข้าให้เอกชน